บัวบก

ชื่อสมุนไพร : บัวบก
ชื่ออื่น ๆ
 : ผักหนอก(เหนือ), ผักแว่น(ใต้), บัวบก(ภาคกลาง), จำปาเครือ, กะบังนอก(ลำปาง), เตียกำเช้า, ฮักตัก(จีน) ปะหนะ, เอขาเด๊าะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Asiatic Pennywort
ชื่อวิทยาศาสตร์  : Centella asiatica (Linn.) Urban.
ชื่อวงศ์ : UMBELLIFERAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นบัวบก เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นเป็นไหล(stolen) เลื้อยไปตามพื้นดินหรืออยู่ด้านล่างหน้าผิวดิน ไหลมีลักษณะทรงกลม ไหลอ่อนมีสีขาว ไหลแก่มีสีน้ำตาล ขนาดประมาณ 0.2-0.4 มิลลิเมตร ยาวได้มากกว่า 1 เมตร ไหลมีลักษณะเป็นข้อปล้อง บริเวณข้อเป็นจุดแทงออกของก้านใบ ส่วนด้านล่างของข้อมีรากแขนงแทงลึกลงดิน และแต่ละข้อแตกแขนงแยกไหลไปเรื่อยๆ
  • ใบบัวบก ออกเป็นใบเดี่ยว และออกเป็นกระจุกจำนวนหลายใบบริเวณข้อ แต่ละข้อมีใบ 2-10 ใบ ใบบัวบกประกอบด้วยก้านใบที่แทงตั้งตรงจากข้อ ก้านใบสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีลักษณะทรงกลม สีเขียวอ่อน ถัดมาเป็นแผ่นใบที่เชื่อมติดกับก้านใบบริเวณตรงกลางของใบ ฐานใบโค้งเว้าเข้าหากัน แผ่นใบมีรูปทรงกลมหรือมีรูปร่างคล้ายไต ขอบใบหยัก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบด้านใบเรียบ สีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นๆปกคลุม และมีสีเขียวจางกว่าด้านบน ขอบใบหยักเป็นคลื่น
  • ดอกบัวบก ออกเป็นช่อที่ซอกใบของข้อ ช่อดอกมีรูปทรงช่อคล้ายร่ม อาจมีช่อเดี่ยวหรือมีประมาณ 2-5 ช่อ แต่ละช่อมีประมาณ 3-4 ดอก มีก้านช่อดอกยาวทรงกลม ขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกมีสีขาว ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ขนาดสั้น
  • ผลบัวบก มีขนาดเล็ก มีลักษณะกลมแบน ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดแข็ง มีสีเขียวหรือม่วงน้ำตาล

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น, ใบ, เมล็ด

สรรพคุณ บัวบก :

  • ใบ  มีสาร Asiaticoside ทำยาทาแก้แผลโรคเรื้อน
  • ทั้งต้นสด เป็นยำบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือมีการชอกช้ำจากการกระแทก แก้พิษงูกัด ปวดศีรษะข้างเดียว ขับปัสสาวะ แก้เจ็บคอ เป็นยาห้ามเลือด ส่าแผลสด แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน แก้ช้ำใน
  • เมล็ด แก้บิด แก้ไข้ ปวดศีรษะ
Scroll to top