ชื่ออื่นๆ : กระตังใบ, กะตังใบ, ต้างไก่(อุบลราชธานี), คะนางใบ(ตราด), ตองจ้วม, ตองต้อม(เหนือ), บั่งบายต้น(ตรัง), ช้างเขิง, ดังหวาย(นราธิวาส), เรือง, กะตังบาย, กะตังใบ, กระตังบาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lee indica (Burm.f.) Merr.
ชื่อวงศ์ : Leeaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกระตังใบ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ลำต้นเกลี้ยง หรือปกคลุมด้วยขนสั้นๆ
- ใบกระตังใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 1-3 ชั้น ใบย่อยมี 3-7 ใบ ถึงจำนวนมาก ปลายใบคี่ เรียงแบบสลับ ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงข้าม หูใบรูปไข่กลับ แผ่เป็นแผ่นกว้าง มักจะเกลี้ยง หรือมีขนประปราย หูใบร่วงง่าย ทำให้เกิดรอยแผลเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง เกลี้ยง หรือมีขนสั้นปกคลุม ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ถึงรูปหอกแกมรูปไข่ หรือรูปรี หรือรูปใบหอกแกมรี ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบสอบ หรือกลม หรือเว้า เล็กน้อย ขอบใบจักมน หรือจักแบบฟันเลื่อย หรือแบบซี่ฟันตื้นๆเนื้อใบหนาปานกลาง ด้านล่างมีต่อมขนาดเล็กรูปเหลี่ยม หรือกลม เส้นใบมี 6-16 คู่ หลังใบและท้องใบเป็นลอนตามแนวเส้นใบ
- ดอกกระตังใบ ออกเป็นช่อตั้งขึ้น ตามซอกใบ ก้านช่อดอก ดอกย่อยสีเขียวอ่อน มีจำนวนมาก ดอกตูมรูปทรงกลมสีแดงเข้มพอบานมีสีขาว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ที่โคน ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน เกสรเพศผู้มี 5 อัน ติดอยู่กับหลอดเกสรเพศผู้ ปลายอับเรณูจะโผล่พ้นหลอดออกไปเป็นแฉกมนๆ ปลายแฉกเว้า เกสรเพศเมียมี 6 ช่อง แต่ละช่องมีไข่ 1 เมล็ด ก้านเกสรสั้น ปลายมน
- ผลกระตังใบ กลม แป้น ผิวบาง มีเนื้อนุ่ม ผลอ่อนมีสีเขียวพอแก่จัดมีสีแดงเข้มจนถึงสีม่วงดำ มี 6 เมล็ด ผลรับประทานได้
ส่วนที่ใช้ทำยา : ใบ, น้ำยาง, ทั้งต้น, ราก
สรรพคุณ กระตังใบ :
- ใบ ย่างไฟให้เกรียม ใช้พอกศีรษะ แก้วิงเวียน มึนงง ตำเป็นยาพอกแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และแก้ผื่นคันตามผิวหนัง
- น้ำยาง จากใบอ่อนกินเป็นยาช่วยย่อย
- ทั้งต้น ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม รักษามะเร็งเต้านม
- ราก รสเย็นเมาเบื่อ ต้มน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้บิด ขับเหงื่อ และเป็นยาเย็น แก้อาการกระหายน้ำ แก้ไข้ แก้ไข้รากสาด แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว ดับร้อน นำรากผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม วันละ 3 ครั้ง จนยาหมดรสฝาด แก้ตกขาว มะเร็งลำไส้ มะเร็งมดลูก