ชื่ออื่น : กระเบียน (ราชบุรี, อุตรดิตถ์), กระดานพน (ตาก), จิ๊เดียม ดิ๊กเดียม (ภาคเหนือ), มะกอกพราน (กาญจนบุรี), มุ่ยแดง (เลย), หมุยขาว หัวโล้น (นครราชสีมา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceriscoides turgida (Roxb.) Tirveng.
ชื่อวงศ์ : RUBIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกระเบียน เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 7-13 ม. กิ่งก้านแข็งแรง อาจมีหนามตรงออกเป็นคู่ที่ข้อ
- ใบกระเบียน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับ กลม หรือรี ปลายมนหรือแหลมเป็นติ่งสั้น โคนสอบแคบเรียวลงไปจนถึงก้านใบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย หูใบระหว่างก้านใบเป็นรูปสามเหลี่ยม 1 คู่ อยู่ตรงข้ามกัน
- ดอกกระเบียน ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอด กลีบดอกสีขาวอมเหลือง ติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ไม่มีกลิ่น กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเหมือนกับดอกเพศผู้
- ผลกระเบียน ผลรูปไข่หรือกลม ค่อนข้างแข็ง เมล็ดแบน มีจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล, เมล็ด, ใบ, ดอก, ราก
สรรพคุณ กระเบียน :
- ผล รสเมาเบื่อ ฆ่าพยาธิกลากเกลื้อน แก้มะเร็ง คุดทะราด โรคเรื้อน กุฎฐัง
- เมล็ด น้ำมันในเมล็ดใช้ทาแก้แผลมะเร็ง โรคเรื้อน
- ใบ รสฝาด ใช้ตำพอกรักษาแผล
- ดอก ใช้ขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน ใช้ฆ่าพยาธิ
- ราก ใช้แก้อาหารไม่ย่อยในเด็ก
[su_quote]ประโยชน์ : เนื้อไม้สีนวลอมเหลือง ละเอียด เสี้ยนค่อนข้างตรง แข็งพอประมาณใช้ทำเครื่องเรือนเครื่องมือเครื่องใช้ ใบใช้ตำพอกรักษาแผลสด ดอกใช้ขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน รากใช้แก้อาหารไม่ย่อยในเด็ก[/su_quote]