ชื่อสมุนไพร : กะทัง
ชื่ออื่น : กะตา, มือแด, มือแด็ง, มือแต, กายูกะตา, กายูมือแด(มลายู-ภาคใต้), กะทัง, ทัง, ทังใบใหญ่(ภาคใต้), ทังทอง (สุราษฎร์ธานี), มะดัง(นราธิวาส), สังต้ง(ยะลา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Litsea grandis Hook.f.
ชื่อวงศ์ : LAURACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกะทัง เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-25 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มรูปเจดีย์ เปลือกสีน้ำตาลอมเทา มีตุ่มขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น
- ใบกะทัง ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 8-15 ซม. ยาว 14-26 ซม. ปลายมนหรือมีติ่งสั้นๆ โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาแข็ง ด้านบนสีเขียวเข้ม มีขนประปรายตามเส้นกลางใบ ด้านล่างสีจางกว่า มีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ 8-14 เส้น ระหว่างเส้นแขนงใบมีเส้นขั้นบันไดถี่ เห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว 1.6-3.4 ซม. มีขนนุ่มประปราย
- ดอกกะทัง ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มสั้นๆ ออกตามกิ่งด้านข้างและตามง่ามใบ แกนช่อดอกยาว 0.5-1 ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกแยกเพศ สีเหลืองอ่อน เมื่อบานกว้าง 7-9 มม. ก้านดอกเรียวยาว 0.8-1.7 ซม. กลีบรวมโคนติดกันคล้ายรูปถ้วย ปลายแยกเป็นกลีบๆ ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้จำนวนมากเป็นกระจุก อับเรณูเป็นช่องมีฝาเปิด
- ผลกะทัง ผลออกเป็นกลุ่มบนช่อสั้นๆ 3-8 ผล รูปไข่หรือรูปรีปลายมน ยาว 0.8-1.4 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6-1 ซม. ติดอยู่บนฐานรูปถ้วยซึ่งเจริญมาจากกลีบรวม ผลสีเขียว เมื่อแก่สีดำ มีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกต้น, เมล็ด
สรรพคุณ กะทัง :
- เปลือกต้น รสสุขุม ดับพิษตับไต ขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน แก้ปวดมดลูก แก้ฟกช้ำ แก้ปวดตามกล้ามเนื้อ
- เมล็ด ให้น้ำมันที่ใช้ทำน้ำมันใส่ผมบำรุงรากผม