ชื่ออื่น : กาสะลองคำ, กากี, แคะเป๊าะ, สำเภาหลามต้น, จางจืด, สะเภา, อ้อยช้าง, ปีบทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Radermachera ignea (Kurz) Steenis
ชื่อวงศ์ : BIGNONIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกาสะลองคำ ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 6-15 เมตร ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว เรือนยอดแผ่นเป็นชั้น ลำต้นเปลาตรง กิ่งก้านเล็กและลู่ลง เปลือกสีเทา แตกสะเก็ดเล็กน้อยมีช่องอากาศขนาดใหญ่ทั่วไป
- ใบกาสะลองคำ ประกอบแบบขนนก 3 ชั้น เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาว 20-60 ซม. ใบย่อย 3-5 คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูปรี รูปใบหอก กว้าง 2-4.6 ซม. ยาว 5-12 ซม. ปลายใบแหลมยาวโคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบ หลังใบเรียบ สีเขียวเป็นมัน ท้องใบเรียบสีอ่อนกว่า แผ่นใบบาง เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบย่อยยาว 0.3-1.1 ซม.
- ดอกกาสะลองคำ สีเหลืองทองออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามกิ่งและลำต้น มี 3-10 ดอก ช่อดอกยาว 1-1.7 ซม. มีขนนุ่มประปราย กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูปกระสวยแกมรูปไข่ สีน้ำตาลแดง มีขนนุ่มทั่วไป กลีบดอกเชื่อมเป็นรูปทรงกระบอกปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.5-2 ซม.
- ผลกาสะลองคำ แห้งแตก เป็นฝัก รูปทรงกระบอกยาว 30-45 ซม. ผลแก่จะบิดเวียนและแตก 2 ซีก เมล็ด แบน มีจำนวนมาก มีปีกแคบยาว 2 ข้าง
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, เปลือกต้น, ใบ
สรรพคุณ กาสะลองคำ :
- ลำต้น ผสมกับต้นขางปอย ต้นขางน้ำข้าว ต้นอวดเชือก ฝนน้ำกินแก้ซาง
- เปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย ใช้ใส่แผล รักษาอาการปวดฟัน รักษาโรคเรื้อน รักษาผิวหนัง
- ใบ ตำคั้นน้ำ ทาหรือพอกรักษาแผลสด แผลถลอก ห้ามเลือด