ชื่อสมุนไพร : กำยาน
ชื่ออื่น ๆ : กำยานไทย (ภาคกลาง), กำยาน (ภาคเหนือ), เซ่พอบอ(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), เข้ว (ละว้า-เชียงใหม่), เกลือตานตุ่น (ศรีสะเกษ), ชาติสมิง (นครพนม), กำมะแย, กำยานสุมาตร (นราธิวาส,มาเลเซีย), เบนซอย (นอกประเทศ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Styrax benzoides Craib
วงศ์ : STYRACACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกำยาน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงใหญ่ สูง 10 – 20 ม. ลำต้นเปลา เปลือกของต้นมีสีเทา หรือสีหม่น กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม ตามกิ่งพบกลุ่มปุ่มหูดรูปเคียว
- ใบกำยาน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง 3 – 6 ซม. ยาว 5 – 15 ซม. ยาวเรียว ขอบหยักเล็กน้อย ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ใบมีขน
- ดอกกำยาน ดอกออกเป็นกระจุก หรือเป็นช่อ ออกที่ซอกใบและปลายยอด มีสีชมพูถึงแดง หรือมีสีขาว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้สีเหลือง
- ผลกำยาน ทรงกลมหรือแป้น เมื่อแก่แตกเป็น 3 ซีก มีเมล็ดเดียว สีน้ำตาล
ส่วนที่ใช้ : ยางที่ได้จากลำต้น หรือเปลือก
สรรพคุณ กำยาน :
- ยาง ของมันมีกลิ่นหอม ยาง ได้จากลำต้น หรือเปลือก ใช้เป็นยาบำรุงเส้น แก้ลม แก้นิ่ว ขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ สมานแผล ฆ่าเชื้อ ยางมีกลิ่นหอมใช้บำรุงเส้น ดับกลิ่นเน่าเหม็นทุกประเภท เมื่อนำมาผสมกับขี้ผึ้งใช้ทาแก้โรคเชื้อรา น้ำกัดเท้า ทาแผล ใช้เผาไฟเอาควันอบห้องซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อโรคในอากาศ เป็นยาไล่ยุงริ้น
- ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ตกขาว
- แก่นหรือเปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคไตพิการ
- เปลือกต้น แก้ไข้ ระงับปวด ตำพอก ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ต้มน้ำดื่ม บำรุงประสาท
- ราก ผสมรากหัสคุณ ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้มาลาเรีย
- นอกจากใช้ยาทางแล้ว ยังสามารกถใช้ทำธูป ทำกระแจะ หรือเครื่องหอมอีกด้วย