ชื่อสมุนไพร : คราม
ชื่ออื่น ๆ : ครามย้อย (ภาคกลางและภาคเหนือ), คาม(พายัพ-อีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Indigofera tinctoria Linn.
ชื่อวงศ์ : PAPILIONEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นคราม เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขามาก บ้างว่าแตกกิ่งก้านน้อย มีความสูงของต้นประมาณ 4-6 ฟุต หรือสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลมสีเขียว มักพาดเกาะตามสิ่งที่อยู่ใกล้กับลำต้น
- ใบคราม มีลักษณะคล้ายกับใบก้างปลาแต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียวมีลักษณะบาง
- ดอกคราม เป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกเป็นสีม่วงแกมสีน้ำตาลหรือเป็นสีชมพูและเป็นสีเขียวอ่อนแกม
- ผลคราม มีลักษณะเป็นฝักกลมขนาดเล็ก ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร โดยออกเป็นกระจุก ฝักมีลักษณะคล้ายฝักถั่ว ภายในฝักมีเมล็ดสีครีมอมสีเหลืองขนาดเล็ก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ราก, เปลือก, ทั้งต้น, ทั้งห้า
สรรพคุณ คราม :
- ใบ รสเย็น ดับพิษ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ปวดศีรษะ
- ราก เป็นยาแก้พิษของสารหนู
- เปลือก แก้พิษงูกัด แก้พิษฝี แก้ตัวพยาธิ แก้โลหิต แก้บวม
- ทั้งต้น ฟอกปัสสาวะให้บริสุทธิ์ แก้กษัยน้ำปัสสาวะพิการต่างๆ น้ำปัสสาวะขุ่นข้น รักษานิ่ว แก้ไข้ตัวร้อน แก้ปวดศีรษะ แก้โรคเลือดตีขึ้น
- ทั้งห้า แก้บวม บวมพอง เป็นยาระบาย
- ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ฟอกขับปัสสาวะให้บริสุทธิ์ แก้กษัย น้ำปัสสาวะขุ่นข้น แก้นิ่ว
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ยับยั้งความเป็นพิษต่อตับ ขับน้ำดี แก้ท้องเสีย ยับยั้งพยาธิไส้เดือน กระตุ้นเม็ดเลือดขาว ยับยั้งเนื้องอก