ชื่อสมุนไพร : งัวเลีย
ชื่ออื่นๆ : วัวเลีย( อุบลราชธานี ), ทะลุ่มอิด( นครสวรรค์ ), ตะครอง( นครศรีธรรมราช ), งวงช้าง( อุดรธานี ), หนามนมวัว, โกโรโกโส, หนามเกาะไก่( นครราชสีมา ), ไก่ให้( พิษณุโลก), กะอิด(ราชบุรี), ก่อทิง(ชัยภูมิ), กระโปรงแจง(สุโขทัย), กระจิก( ภาคกลาง )
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capparis flavicans Kurz.
ชื่อวงศ์ : CAPPARIDACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นงัวเลีย เป็นไม้พุ่มยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กหรือไม้เถารอเลื้อย ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 2-10 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ แผ่กว้างและแตกกิ่งต่ำ แตกกิ่งก้านสาขาเรียวเล็ก เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องลึกและบางตามยาวของลำต้น ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร และมีขนรูปดาวสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นปกคลุม
- ใบงัวเลีย เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบมนหรือบางครั้งเว้าบุ๋ม เป็นติ่งเล็กสั้นหรือเว้าตื้น โคนใบมน รูปลิ่ม หรือสอบแหลม ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนาและนุ่ม ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีนวลสีขาวปกคลุม เส้นแขนงใบมีข้างละ 3-5 เส้น คู่แรกมักออกใกล้โคนใบ ก้านใบยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร
- ดอกงัวเลียออกดอกเดี่ยวตามซอกใบของกิ่งอ่อน ดอกเป็นสีเหลืองหรือเหลืองปนเขียว กลีบดอกมี 4 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8-9 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอกจะมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นหนาแน่น กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 6-12 อัน เป็นสีค่อนข้างเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียว ก้านชูเกสรเพศเมียโค้ง ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร รังไข่เป็นรูปรีหรือรูปไข่ ทั้งก้านชูเกสรเพศเมียและรังไข่มีขนหนาแน่น ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร
- ผลงัวเลีย ลักษณะผลสดแบบมีเนื้อหลายเมล็ด ลักษณะของผลเป็นรูปมน มนรีเล็กน้อย หรือรูปกลม เปลือกผลหนาและขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำ มีสันนูน 4 สัน ปลายผลเป็นติ่งแหลม มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วผล ผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสดหรือสีส้มแดง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดซึ่งมีเนื้อสีเหลืองหุ้มอยู่ เมล็ดเป็นสีน้ำตาลมีขนาดประมาณ 3-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อไม้, ราก, ใบ
สรรพคุณ งัวเลีย :
- เนื้อไม้ โดยการแกะเอาเนื้อไม้ดิบหรือตากแห้งก็ได้ นำมาบดเป็นผลทำให้เป้นควันใช้สูดแก้ อาการวิงเวียนศีรษะ
- ราก รสเย็น สรรพคุณ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ทุกชนิด แก้ไข้ความร้อนสูง ชักคลั่งเพ้อ ไข้จับสั่น แก้ไข้พิษ หัด สุกใส ดำแดง
- ใบ มีประโยชน์สำหรับผู้ที่คลอดลูกแต่มีน้ำนมไม่มาก หรือมีความต้องการที่ขับน้ำนมออก ก็กินใบงัวเลียนี้ซึ่งเป็นยาขับน้ำนมได้ดี