ชื่อสมุนไพร : ชมพู่น้ำดอกไม้
ชื่ออื่นๆ : มะชมพู่, มะน้ำหอม (พายัพ), ชมพู่น้ำ, ฝรั่งน้ำ (ภาคใต้), มะห้าคอกลอก (แม่ฮ่องสอน), มซามุด, มะซามุต (น่าน), ยามูปะนาวา (มลายู-ยะลา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium jambos (L.) Alston
ชื่อวงศ์ : MYRTACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 10 เมตร เปลือกต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีน้ำตาล
- ใบชมพู่น้ำดอกไม้ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอกเรียวยาว ปลายใบแหลมและมีติ่งแหลม โคนใบมนรี ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเป็นสีเขียวเข้ม
- ดอกชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ดอกบ่อย 3-8 ดอก กลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ฐานรองดอกรูปกรวย เกสรตัวผู้จำนวนมาก
- ผลชมพู่น้ำดอกไม้ ผลเป็นผลสดใช้รับประทานได้ ผลเป็นผลเดี่ยว มีลักษณะเกือบกลม ดูคล้ายกับลูกจันสีเหลือง ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 4 กลีบ ภายในผลกลวง ผลมีกลิ่นหอมคล้ายกับดอกนมแมว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 80-100 กรัม ผลดิบเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่สุกแล้วจะเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองทอง เนื้อด้านในบางเป็นสีขาวนวลหรือสีเขียวอ่อน ส่วนเมล็ดเป็นสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่ เนื้อผลรสชาติออกหวานหน่อยๆ มีกลิ่นหอมแรง
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อในลูก, ใบ, เปลือก, ต้น, และเมล็ด
สรรพคุณ ชมพู่น้ำดอกไม้ :
- เนื้อในลูก รสเปรี้ยวหวานเย็น ปรุงยาหอมชูกำลัง ทำให้ใจคอชุ่มชื่น บำรุงหัวใจเหมาะสำหรับเป็นอาหารแก่คนไข้หนัก ช่วยชูกำลัง บำรุงหัวใจให้เบิกบาน แก้ลมปลายไข้
- ใบ พอกแผลฝีดาษ ทำให้เย็น แก้เจ็บตา แก้ไข้
- เปลือก, ต้น และเมล็ด แก้เบาหวาน แก้บิด แก้ท้องเสีย