ชื่อสมุนไพร : ตากวง
ชื่ออื่นๆ : ขอบด้วงเถา(ชุมพร), ตากวาง(ลำปาง, นครพนม, แพร่), กำแพงเก้าชั้น(หนองคาย), กระดอเย็น(เกาะช้าง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Salacia verrucosa Wight.
ชื่อวงศ์ : CELASTRACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นตากวาง ไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาขนาดใหญ่ พาดพันไปตามต้นไม้ใหญ่ ยาวประมาณ 5 เมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลเทา มีรูอากาศตามผิวเปลือก เปลือกด้านในสีแดง ที่ผิวกิ่งค่อนข้างขรุขระ และมีรูอากาศมาก กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุม เนื้อไม้สีแดงอ่อน มีน้ำยางสีแดง มีวงปีสีแดงเข้ม ซ้อนกันถี่ๆ คล้ายกำแพงที่ถูกล้อมไว้ และมีจำนวนชั้นมาก
- ใบตากวาง ใบเดี่ยว เรียงสลับ เรียงตรงข้าม หรือเกือบตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบเล็กลึก ก้านใบเล็ก เรียวแข็งแรง มันเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบผิวมัน มีหูใบ
- ดอกตากวาง ดอกเดี่ยวออกรวมกันเป็นกลุ่มออกมาจากปุ่มนูนที่ซอกใบ หรือบนกิ่งที่เคยมีรอยใบติดอยู่ แต่ละกลุ่มมีดอกจำนวนมาก ประมาณ 30-40 ดอกในแต่ละช่อ ดอกสีเขียวอมเหลือง มองเห็นดอกอยู่ตรงข้ามกันสองกลุ่มตามข้อของใบ ก้านดอกสีเขียวอ่อนจำนวนมาก ยาวน้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร ก้านดอกสั้นกว่าก้านใบ กลีบดอกรูปร่างกลม ปลายกลมมน ฐานกลีบกว้าง มี 5 กลีบ สีเหลืองปนเขียว จานฐานดอกนูนขึ้นเป็นรูปทรงกลมแบน เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดบนขอบจานฐานดอก เรียงแยกกันเป็นวง แต่ละช่องของรังไข่ มีออวุล 2 อัน วางซ้อนกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ปลายมนกลม สีเขียว
- ผลตากวาง ผลสดรูปทรงกลม กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ผิวหยาบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีส้มแดง มีเมล็ดแข็ง 3-4 เมล็ด เนื้อผลสุก สีน้ำตาลอ่อนใส รสหวาน รับประทานได้
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อไม้ ราก
สรรพคุณ ตากวาง :
- เนื้อไม้ รสฝาดเมา บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง แก้โลหิตและน้ำเหลืองพิการ บำรุงตับ ไต แก้ระดูขาว แก้กระษัยไตพิการ แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดหลังปวดเอว เป็นยาถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ระบายลมร้าย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม เป็นยาระบาย บำรุงเอ็น บำรุงเส้น บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย
- ราก ผสมกับต้นตาไก้ รากค้อนตีหมา รากอีล่ำ (กำลังทรพี) ต้มรับประทาน แก้ไข้สูง