ตำแยแมว(ตำแยตัวผู้)

ชื่อสมุนไพร : ตำแยแมว
ชื่ออื่น ๆ
: ตำแยตัวผู้, ตำแยป่า, หญ้าแมว, หญ้ายาแมว, หานแมว, ลังตาไก่, อเนกคุณ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acalypha indica Linn.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE.

 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นตำแยแมว เป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง และมีขนาดเล็กเนื้อภายในอ่อน และไม่แข็งแรง ลำต้นสูงประมาณ 2 ฟุต เท่านั้น
  • ใบตำแยแมว ออกใบเดี่ยว มีขนาดเล็กรูปมนรี ปลายใบเรียวเล็ก ขอบใบเป็นจักอยู่รอบใบ มีสีเขียว และใบใหญ่กว่าใบพุทราเล็กน้อย
  • ดอกตำแยแมว จะออกดอกรอบ ๆ ลำต้น ลักษณะของดอกจะคล้าย ๆ กับใบอ่อนที่มีขนาดเล็ก แต่พอบานเต็มที่แล้วใบอ่อนนี้ก็ยังติดอยู่ไม่ร่วง
  • ผลตำแยแมว รูปกลม ขนาดเล็ก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมื่อผลแก่แตกได้ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามธรรมชาติในบริเวณที่มีพื้นดินเย็น หรือที่รกร้างข้างทาง

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ต้น, ราก

สรรพคุณ ตำแยแมว :

  • ราก ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน ทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร เป็นยาถ่าย
  • ใบ ขับพยาธิเส้นด้ายในเด็ก ขับเสมหะในโรคหลอดลมอักเสบ ขับเสมหะในโรคหอบหืดเป็นยาถ่าย ทำให้คลื่นเหียนอาเจียน (รับประทานปริมาณมาก) ใบแห้งป่นโรยรักษาแผลเนื่องจากนอนมาก ยาระบาย แก้หืด ขับเสมหะ
  • ทั้งต้น ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน ถอนพิษของโรคแมวได้ดี
  • ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน แก้ไอ ขับพยาธิเส้นด้ายในเด็ก ทำให้ทางเดินอาหารระคายเคือง ถอนพิษโรคของแมว

ข้อห้ามใช้ : อย่าทานมากจนเกินขนาด เพราะจะทำให้อาเจียนได้ 

ตำรับยา :

  1. ขับพยาธิ โดยนำใบสดมาทำเป็นอาหารทาน โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ๆ หรือใช้ใบสดคั้นเอาน้ำผสมกับกระเทียมก็ได้
  2. โรคผิวหนัง ใช้ใบสด ๆ ตำผสมกับเกลือแกง ทาตรงบริเวณนั้น
  3. ขับเสมหะ โดยนำใบสด ๆ มาสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 4 ถ้วย ให้เหลือเพียง 2 ถ้วยแก้ว ดื่มครั้งละ 1 ถ้วย เช้าเย็น
  4. ทำความสะอาดทางเดินอาหาร โดยการนำต้นสดทั้งต้นมาคั้นเอาน้ำ ซึ่งน้ำที่ได้นี้จะใช้เป็น purgative และยังใช้เป็นยาระบายได้

 

Scroll to top