ถั่วแปบช้าง

ชื่อสมุนไพร : ถั่วแปบช้าง
ชื่ออื่นๆ :
 กันภัย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Afgekia sericea Craib
ชื่อวงศ์ : FABACEAE (LEGUMINOSAEPAPILIONOIDEAE)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นถั่วแปบช้าง เป็นไม้เลื้อย ไม้เถาขนาดกลาง มีขนสีเทานุ่มคลุมตามลำต้น มักเลื้อยคลุมยอดหญ้าและไม้พุ่มเตี้ย
  • ใบถั่วแปบช้าง ใบเป็นช่อติดเรียงสลับช่อหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยใบย่อยที่ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ 4-5 คู่ แต่ใบปลายสดของก้านช่อเป็นใบเดี่ยวๆ ใบย่อยเหล่านี้ รูปมนแกมรูปขอบขนาน โคนใบมนแล้วค่อย ๆ สอบเรียวเล็กน้อยไปทางปลายใบ ปลายใบแหลมทู่ หลังใบสีเขียวมีขนสั้นๆ ประปรายส่วนท้องใบมีขนละเอียด เป็นเส้นไหมสีเงินเป็นมันลู่ราบไปตามผิว จับดูจะรู้สึกนุ่มมือ ตามโคนก้านช่อและก้านใบย่อยจะมีหูใบเรียวแหลมเล็ก ๆ หนึ่งคู่
  • ดอกถั่วแปบช้าง ลักษณะคล้ายดอกถั่ว สีชมพูอมขาว ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ใบประดับสีชมพูเรียงกันแน่นที่ปลายช่อ ออกรวมกันเป็นช่อแน่น ยาวประมาณ 18 เซนติเมตร ช่ออ่อนถ้าดูอย่างผิวเผิน มีรูปทรงคล้ายปรางค์ขอม จะมีกาบรองดอกสีกลีบบัว หุ้มที่โคนช่อ เกสรมี 10 อัน แยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 9 อัน ซึ่งโคนก้านเกสรจะติดกัน อีกกลุ่มหนึ่งมีอันเดียวโดด ๆ หลอดท่อเกสรเมียมีอันเดียว และยาวยื่นออกมาจากดอกเห็นได้ชัด ใบประดับมีขนนุ่ม กลีบดอก 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านเกสรเชื่อมกัน
  • ผลถั่วแปบช้าง เป็นฝักรูปขอบขนาน หนา มีขนนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม เมื่อแก่แตกได้ เมล็ด 2-3 เมล็ด รูปไข่ มีลาย ออกดอกฤดูฝน ฝักแก่จะแตกอ้าออกตามรอยประสาน

ส่วนที่ใช้เป็นยา :  เมล็ด, ราก

สรรพคุณ ถั่วแปบช้าง :

  • เมล็ด กินบำรุงไขมัน และเส้นเอ็น เหมาะสำหรับคนผอม
  • ราก ผสมกับเปลือกต้นมะกอกเหลี่ยม เปลือกต้นยางนาและเปลือกต้นหนามหัน ต้มน้ำดื่ม รักษาอีสุกอีใส และซาง (โรคของเด็กเล็ก มักเบื่ออาหาร ซึม มีเม็ดขึ้นในปากและคอ ลิ้นเป็นฝ้า)
Scroll to top