ชื่อสมุนไพร : ทองกวาว
ชื่ออื่นๆ : กวาว, ก้าว(ภาคเหนือ), ทองธรรมชาติ, ทองพรมชาติ(ภาคกลาง), ทองต้น(ราชบุรี), จาน(อุบลราชธานี), จ้า(เขมร-สุรินทร์), จอมทอง(ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butea monosperma (Lam.) Taub.
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นทองกวาว ไม้ยืนต้น สูง 12-18 เมตร เปลือกต้นเป็นปุ่มปม สีน้ำตาลอ่อน การแตกกิ่งก้านทิศทางไม่เป็นระเบียบ กิ่งอ่อนมีขนละเอียดหนา
- ใบทองกวาว ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับ ใบย่อยที่ปลายเป็นรูปไข่แกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขนาดใหญ่สุด ส่วนใบย่อยด้านข้างจะเป็นรูปไม่เบี้ยว มีขอบใบเรียบ โคนเบี้ยว ปลายมน
- ดอกทองกวาว ออกเป็นช่อ ตามกิ่งเหนือรอยแผลใบและตามปลายกิ่ง ดอกสีแสด ฐานรองดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ลักษณะเป็นดอกถั่วขนาดใหญ่มี 5 กลีบ แบ่งเป็นกลีบกลาง 1 กลีบ กลีบคู่ข้าง 2 กลีบแยกออกทั้ง 2 ข้าง และกลีบคู่ล่าง ที่เชื่อมติดกัน 2 กลีบ เกสรผู้ 10 เกสร แยกเป็นอิสระ 1 เกสร อีก 9 เกสร โคนก้านเชื่อมติดกันเป็นหลอด
- ผล ลักษณะผลเป็นฝักแบน กว้าง 3-4 ซม. ยาวประมาณ 10-15 ซม. มีขนนุ่ม
- เมล็ด มีเมล็ดลักษณะแบน 1 เมล็ด อยู่ที่ปลายฝัก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ยาง, ใบ, ดอก, ฝัก, เมล็ด
สรรพคุณ ทองกวาว :
- ราก รสเมาร้อน ต้มน้ำดื่มแก้โรคประสาทและบำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับพยาธิ แก้ริดสีดวงทวาร
- ยาง รสเมา แก้ท้องร่วง แก้เลือดออกในกระเพาะอาหารและกระเพาะปัสสาวะ
- ใบ รสเมา โขลกพอกฝีและสิว แก้ท้องขึ้น แก้ริดสีดวงทวาร ถอนพิษ แก้ปวด ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
- ดอก รสฝาดขม ต้มน้ำดื่ม ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ หรือนำน้ำมาผสมยาหยอดตาแก้โรคตามัวหรือเจ็บตา ลดความกำหนัด ใช้โขลกพอกที่แผล
- ฝัก รสเมาร้อน ใช้ขับพยาธิ
- เมล็ด รสเมาร้อน โขลกพอละเอียดผสมน้ำมะนาวทาบริเวณที่เป็นผื่นคันหรืออักเสบ หรือนำมาต้มน้ำดื่มถ่ายพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือน และแก้ท้องอืด
[su_quote cite=”The Description”]ใช้รักษาอาการประสาทและบำรุงธาตุ โดยใช้รากสดมาสับเป็นชิ้น 30-50 กรัม แล้วผสมน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เดือดและเคี่ยวให้เหลือ 3 ใน 4 ส่วน กรองเอาแต่น้ำดื่มหรือจิบวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น[/su_quote]