ชื่อสมุนไพร : ทุเรียน
ชื่ออื่นๆ : มะทุเรียน(ภาคเหนือ), เรียน(ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Durio zibethinus Linn.
ชื่อวงศ์ : BOMBACACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นทุเรียน เป็นไม้ผลยืนต้นไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง สูง 25-50 เมตรขึ้นกับชนิด แตกกิ่งเป็นมุมแหลม ปลายกิ่งตั้งกระจายกิ่งกลางลำต้นขึ้นไป เปลือกชั้นนอกของลำต้นสีเทาแก่ ผิวขรุขระหลุดลอกออกเป็นสะเก็ด ไม่มียาง
- ใบทุเรียน เป็นใบเดี่ยว เกิดกระจายทั่วกิ่ง เกิดเป็นคู่อยู่ตรงกันข้ามระนาบเดียวกัน ก้านใบกลมยาว 2–4 ซม. แผ่นใบรูปไข่แกมขอบขนานปลายใบใบเรียวแหลม ยาว 10-18 ซม. ผิวใบเรียบลื่น มีไขนวล ใบด้านบนมีสีเขียว ท้องใบมีสีน้ำตาลเส้นใบด้านล่างนูนเด่น ขอบใบเรียบ
- ดอกทุเรียน เป็นดอกช่อ มี 3-30 ช่อบนกิ่งเดียวกัน เกิดตามลำต้น และกิ่งก้านยาว 1–2 ซม. ลักษณะดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยงและมีกลีบดอก 5 กลีบ (บางครั้งอาจมี 4 หรือ 6 กลีบ) มีสีขาวหอม ลักษณะดอกคล้ายระฆัง มีช่วงเวลาออกดอก 1-2 ครั้งต่อปี ช่วงเวลาออกดอกขึ้นกับชนิด สายพันธุ์ และสถานที่ปลูกเลี้ยง โดยทั่วไปทุเรียนจะให้ผลเมื่อมีอายุ 4-5 ปี โดยจะออกตามกิ่งและสุกหลังจากผสมเกสรไปแล้ว 3 เดือน
- ผลทุเรียน เป็นผลสดชนิดผลเดี่ยว อาจยาวมากกว่า 30 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางอาจยาวกว่า 15 ซม. มีน้ำหนัก 1-3 กก. เป็นรูปรีถึงกลม เปลือกทุเรียนมีหนามแหลมเมื่อแก่ผลมีสีเขียว เมื่อสุกมีสีน้ำตาลอ่อน แตกตามแต่ละส่วนของผลเรียกเป็นพู เนื้อในมีตั้งแต่สีเหลืองอ่อนถึงแดง ขึ้นกับชนิด เนื้อในจะนิ่ม กึ่งอ่อนกึ่งแข็ง มีรสหวาน
- เมล็ดทุเรียน มีเยื่อหุ้ม กลมรี เปลือกหุ้มสีน้ำตาลผิวเรียบ เนื้อในเมล็ดสีขาว รสชาติฝาด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เนื้อหุ้มเมล็ด, เปลือกลูก, ราก
สรรพคุณ ทุเรียน :
- ใบ รสขม เย็นเฝื่อน แก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ ทำให้หนองแห้ง
- เนื้อหุ้มเมล็ด รสหวาน ร้อน ทำให้เกิดความร้อน แก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้ง ขับพยาธิ
- เปลือกลูก รสฝาดเฝื่อน สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย พุพอง แก้ฝีตานซาง คุมธาตุ แก้คางทูม ไล่ยุงและแมลง
- ราก รสฝาดขม แก้ไข้ แก้ท้องร่วง