นมน้อย

ชื่อสมุนไพร : นมน้อย
ชื่ออื่น
 : น้ำเต้าแล้ง(นครราชสีมา), น้ำน้อย(เลย), ต้องแล่ง(มหาสารคาม), นมน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep.
ชื่อวงศ์ : ANNONACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นนมน้อย เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 0.5-1 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลดำ กิ่งก้านเล็ก เปลือกต้นมีช่องแลกเปลี่ยนอากาศจำนวนมาก
  • ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปวงรี กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ฐานใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบ ใบด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านหลังมีขนสั้น ประปราย เส้นใบไม่เด่นชัด เส้นกลางใบเป็นร่อง
  • ดอกนมน้อย ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ บริเวณกิ่งอ่อน ตรงรอยร่วงของใบ ระหว่างข้อหรือใต้ข้อ กลีบดอกสีเหลือง เนื้อหนา มี 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ แบ่งเป็นกลีบดอกชั้นนอก คล้ายกลีบเลี้ยง สีเขียวอมเหลือง รูปสามเหลี่ยม แยกกัน กลีบดอกชั้นในหนาอวบ มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นนอก สีเหลืองนวล ทอรัส รูปนูน เกสรเพศผู้ รูปลิ่ม มีจำนวนมาก อัดกันแน่น หันออกด้านนอก บนฐานล้อมรอบรังไข่จำนวนมาก ซึ่งอยู่กลางฐาน เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ กลีบเลี้ยง บางคล้ายกระดาษ รูปสามเหลี่ยม ด้านนอกของกลีบมีขนสั้นบางสีทอง ด้านในเกลี้ยง
  • ผลนมน้อย เป็นผลกลุ่ม มีหลายผลย่อยรวมเป็นช่อ ผลย่อยรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผลแก่สีน้ำตาลปนแดง เมื่อสุกสีแดง ผลรับประทานได้

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก

สรรพคุณ นมน้อย :

  • ราก  แก้ฝีภายใน แก้ร้อนใน ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดเมื่อย ต้มรากดื่มขณะอยู่ไฟหลังคลอดบุตร ต้มน้ำดื่ม แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง บำรุงน้ำนม แก้ปวดเมื่อย
Scroll to top