ชื่อสมุนไพร : ผักแพวแดง
ชื่ออื่นๆ : ผักแผ่วแดง, ผักแผ่วสวน, ผักอีแปะ, ผักแพวสวน, ละอองใบด่าง (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Iresine herbstii Hook. f.
ชื่อวงศ์ : AMARANTHACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ผักแพวแดง จัดเป็นพืชล้มลุก มีสีแดงทั้งต้นและใบ ลำต้นมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร
- ใบผักแพวแดง ใบเป็นใบประกอบชนิดมีใบย่อยใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบมีสีแดงเข้มออกม่วง มองเห็นเส้นใบสีแดงได้ชัดเจน ลักษณะของเป็นรูปโล่แกมรูปไข่ รูปวงรีหรือรูปไข่หัวกลับ ใบกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ปลายใบเว้า สีแดง มีแถบขวางสีชมพู
- ดอกผักแพวแดง ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกมีสีขาวแกมเหลือง มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแบบแยกเพศ
- ผลผักแพวแดง ผลแห้ง ไม่แตก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ใบ
สรรพคุณ ผักแพวแดง :
- ราก รสร้อนเผ็ด แก้ลม แก้ธาตุพิการ แก้ริดสีดวง แก้หืด แก้ไอ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น อืด เฟ้อ จุกเสียด ขับผายลม แก้ท้องมาน แก้กระเพาะอาหารพิการ แก้อุจจาระพิการ แก้เส้นประสาทพิการ แก้ปวดเมื่อยตามข้อกระดูก
- ใบ รสร้อน แก้ริดสีดวงแห้ง แก้หืด ไอ บำรุงประสาท แก้เลือดลมต่างๆ รักษาอาการหอบ แก้ปวดข้อ ปวดกระดูก แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
ในตำราจุลพิกัดจะมีคำเรียก “ผักแพวทั้งสอง” นั้นหมายถึง ผักแพวแดง และ ผักแพวขาว มีรสร้อน ดังนั้นจึงใช้แก้ธาตุพิการ ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้องได้ดี