พริกชี้ฟ้า

ชื่อสมุนไพร : พริกชี้ฟ้า
ชื่ออื่นๆ :
พริกเดือยไก่, พริกหนุ่ม, พริกหลวง(ภาคเหนือ), พริกแล้ง(เชียงใหม่), พริกมัน, พริกเหลือง(กรุงเทพฯ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capsicum annuum var. acuminatum Fingerh.
ชื่อวงศ์ : SOLANACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพริกชี้ฟ้า เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 1-3 ปี มีความสูงได้ประมาณ 0.3-1.2 เมตร ลำต้นเปราะพริกชี้ฟ้าหักง่าย แตกกิ่งก้านหนาแน่นเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม

 

 

 

  • ใบพริกชี้ฟ้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือออกตรงข้ามกัน บางพันธุ์ก็ออกเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจเรียว รูปวงรี รูปใบหอก หรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบนิ่ม หลังใบและท้องใบเรียบ
  • ดอกพริกชี้ฟ้า ออกดอกเป็นช่อหรือออกดอกเดี่ยวชี้ขึ้น โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันปลายตัดหรือเป็นหยัก 5 หยัก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
  • ผลพริกชี้ฟ้า ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมยาว ปลายผลแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มและสีแดง ผิวผลเป็นมัน ปลายผลชี้ตั้งขึ้น ผลมีรสเผ็ดร้อนพอประมาณ ส่วนเมล็ดมีลักษณะแบนเรียบ สีเหลืองหรือสีขาวนวล และมีจำนวนมาก สามารถติดผลได้ตลอดปี

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เมล็ด

สรรพคุณ พริกชี้ฟ้า :

  • เมล็ด รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องขึ้น อืดเฟ้อ แก้แน่นขับผายลม เจริญอาหาร แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว แก้ปวดตามข้อ ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ขับปัสสาวะ แก้กษัย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย

สารสำคัญที่พบในบริเวณไส้ของผลพริก คือ “แคปไซซิน” (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้พริกมีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นฉุน โดยสารชนิดนี้สามารถยับยั้งการขนส่งน้ำตาลกลูโคสผ่านลำไส้ได้ จึงมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายลดลง ส่วนสารสำคัญที่ทำให้พริกมีสีส้มหรือสีแดง คือ แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งประกอบไปด้วยสารแคโรทีน (Carotene), แคปซันทิน (Capsanthin), แคปซารูบิน (Capsarubin), ลูทีโอลิน (Luteolin) ส่วนในเมล็ดพริกมีสารโซลานีน (Solanine) และโซลานิดีน (Solanidine) นอกจากนี้พริกยังมีสารอาหารอีกมากมาย เช่น ไขมัน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ใยอาหาร วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส เป็นต้น

Scroll to top