ชื่อสมุนไพร : พฤกษ์
ชื่ออื่นๆ : จ๊าขาม, ตุ๊ด, มะรุมป่า, พญากะบุก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia lebbeck (Linn.)Benth.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE (LEGUMINOSAE–MIMOSOIDEAE)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ทรงพุ่มกว้างพอสมควร ด้านบนพุ่มค่อนข้างแบน เปลือกสีเทาเข้มหรือน้ำตาลอมเหลือง ผิวเปลือกขรุขระมักแตกเป็นร่องยาว เปลือกด้านในมีสีแสดแดง
- ใบพฤกษ์ เป็นใบประกอบแบบขนนก แกนช่อใบยาวถึง 15 เซนติเมตร บริเวณโคนมีต่อมรูปรี ขนาด 3 มิลลิเมตร ออกตรงข้ามกัน ใบรูปขอบขนานแกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-4 เซนติเมตร
- ดอกพฤกษ์ ดอกเกิดที่ปลายกิ่งและโคนก้านใบ ออกเป็นช่อยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรยาวเป็นฝอยคล้ายดอกจามจุรี แต่มีสีขาวอมเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม มักออก ดอกในเดือนมีนาคมถึงเมษายน
- ผลพฤกษ์ เป็นฝักแบนโตคล้ายฝักกระถิน สีขาวอมเหลือง กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10 ถึง 30 เซนติเมตร มีเมล็ด 4-12 เมล็ดต่อฝัก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เมล็ด, เปลือก, ใบ
สรรพคุณ พฤกษ์ :
- เมล็ดและเปลือก มีรสฝาด เป็นยาสมาน เช่น รักษาแผลในปาก ในลำคอ เหงือกหรือฟันผุ ริดสีดวงทวารหนัก แก้ท้องร่วง ห้ามเลือดตกใน
- เมล็ด รักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน ทำยารักษาเยื่อตาอักเสบ
- ใบ ใช้ดับพิษร้อน ทำให้เย็น
ใบอ่อนและยอดอ่อนของพฤกษ์ นำมากินเป็นผักได้ เช่น ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกปลาร้า ฯลฯ โดยนำไปทำให้สุกเสียก่อน เช่น ต้ม, ลวก, ย่าง ฯลฯ นอกจากนี้ยังนำไปปรุงอาหารตำรับอื่นๆได้อีก เช่น แกงส้ม เป็นต้น ยอดพฤกษ์เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และรสชาติดีไม่แพ้ผักพื้นบ้านชนิดอื่นๆ แต่น่าเสียดายที่คนไทยรู้จักกินกันน้อยกว่าในอดีตมาก เท่าที่สังเกตดูตามตลาดสดต่างๆ ไม่พบว่า มียอดพฤกษ์ขายเลย ยกเว้นตลาดท้องถิ่นเล็กๆในบางจังหวัดเท่านั้น หากมีการแนะนำส่งเสริมกันบ้างแล้ว คิดว่าคนไทยจะหันมานิยมกินพฤกษ์กันได้ไม่ยาก