พลู

ชื่อสมุนไพร : พลู
ชื่ออื่น ๆ
: พลูจีน, ซีเก้ะ, บูลเปล้ายวน, ชีเก(ใต้), ปู(พายัพ)
ชื่อสามัญ : Betel Pepper
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper betle Linn.
ชื่อวงศ์ : PIPERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพลู ไม้เถา เนื้อแข็ง เป็นไม้เลื้อยระบบรากฝอย (fibrous root system) เกิดตามข้อใช้หาอาหารและยึดเกาะ พลูซึ่งรากหาอาหารจะอยู่ในดินทำหน้าที่ดูดน้ำและอาหารจากดินมาเลี้ยงลำต้น มีรากขนาดใหญ่ประมาณ 6 รากและมีรากแขนงแตกแยกออกไปเป็นวงกว้างตามขนาดของทรงพุ่มและจะหยั่งลึกลงไปในดิน ส่วนรากยึดเกาะบางครั้งเรียกว่ารากตีนตุ๊กแก จะแตกออกตามข้อทำหน้าที่ยึดเกาะกับเสาหรือหลักหรือวัตถุค้ำยันเพื่อให้ลำต้นสูงขึ้นไปและไม่ให้ลำต้นหลุดร่วงออกได้ง่าย รากชนิดนี้ไม่ทำหน้าที่หาอาหาร ปกติเป็นรากใหม่อ่อนๆ ลำต้น เป็นเถาเลื้อย ลักษณะของลำต้นอวบน้ำมีร่องเล็กๆ สีน้ำตาลยาวขนานไปตลอดลำต้น สันร่องมีสีเขียว มีข้อและปล้องชัดเจน เจริญยึดเกาะกับเสาหรือไม้ค้ำยันหรือหลัก ทุกส่วนมีกลิ่นหอมเฉพาะ
  • ใบพลู เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อใบ ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปหัวใจคล้ายใบโพธิ์ ฐานใบมนหรือค่อนข้างกลม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเข้มกว่าใบด้านล่าง เรียบและเป็นมัน มีเส้นใบประมาณ 5-7 เส้น เส้นใบด้านบนจะบุ๋มลงไปตลอดแผ่นใบ ส่วนผิวใบด้านล่างจะนูนออกมาเห็นได้ชัดเจน ใบอ่อนจะเป็นสีเขียวและใบแก่สีจะเข้มขึ้น และมีกลิ่นฉุน
  • ดอกพลู ออกดอกเป็นช่อแบบแกนห้อยลงที่ซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ไม่มีก้าน รูปร่างของดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกออกเป็นกลุ่มเรียงอยู่บนก้านช่อดอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละดอก
  • ผลพลู ลักษณะผลรูปทรงกลม เป็นผลมีเนื้อ เบียดกันแน่นอยู่บนแกน เมื่อสุกมีสีแดง เมล็ด รูปร่างค่อนข้างกลมหรือยาวรีคล้ายรูปไข่

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ

สรรพคุณ พลู :

  • ใบพลู รักษาอาการช้ำบวม รักษาอาการปวดท้อง รักษาอาการไอเจ็บคอ และขับเสมหะ รักษาอาการผื่นคันเนื่องจากเกิดลมพิษ รักษาโรคผิวหนัง รักษาโรคกลากเกลื้อน ฮ่องกงฟุต แผลอักเสบ ฝีหนอง และสิว ในประเทศอินเดียมีการใช้น้ำคั้นจากใบพลูสดรักษาอาการเหล่านี้ คือ เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาระบายอาการท้องผูก ยาเจริญอาหาร ขับเสมหะ ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ ขับลมในกระเพาะอาหาร ทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น เป็นยาสมานแผล และใช้ป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ น้ำมันและสารสกัดจากใบพลูมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหลายชนิด
Scroll to top