พะยอม

ชื่ออื่น : พะยอม, กะยอม(เชียงใหม่), ขะยอม(ลาว), แคน(เลย), พะยอม, สุกรม(ภาคกลาง), พะยอมทอง(สุราษฎร์ธานี, ปราจีนบุรี), ยางหยวก(น่าน), ขะยอมดง, พะยอมดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea roxburghii G.Don
ชื่อสามัญ : White Meranti
ชื่อวงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพยอม ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ผลัดใบระยะสั้น ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปไข่ เปลือกนอกหนาสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นร่องตามยาวของลำต้น และเป็นสะเก็ดหนา กิ่งอ่อนเกลี้ยง
  • ใบพยอม เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ กว้าง 3-7.5 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร หูใบรูปใบหอกขนาดเล็ก ใบรูปขอบขนาน โคนมน ปลายมนหรือหยักเป็นติ่งสั้นๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา เป็นมัน แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีเกล็ดด้านล่าง ขอบใบมักเป็นคลื่น ใบอ่อนสีเขียวอ่อนสดใส ใบแก่สีเหลืองก่อนหลุดร่วง ก้านใบยาว 1-2.5 เซนติเมตร มีขนสั้นๆ สีน้ำตาล เส้นใบข้างโค้ง 14-18 คู่
  • ดอกพยอม เป็นช่อออกตามปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบ ยาว 7-10 เซนติเมตร ขนาดดอก 1.5-3.5 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาวหรือขาวแกมเหลืองอ่อน มี 5 กลีบ กลิ่นหอมจัด กลีบดอกบิดเป็นเกลียว เชื่อมกันที่ฐาน เวลาร่วงหลุดทั้งชั้น เกสรตัวผู้มี 15 อัน เรียงเป็น 3 ชั้น ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายอับเรณูมีรยางค์ ยาวประมาณ 1.5 เท่า ของความยาวอับเรณู เกสรตัวเมียเรียวเล็กยาวเท่ากับรังไข่ รังไข่เกลี้ยงช่วงโคน ปลายแยก 3 แฉก รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 2 อัน กลีบเลี้ยงเกลี้ยง สีขุ่น มี 5 กลีบ หลอดกลีบเลี้ยงหุ้มเมล็ดเกือบมิด ก้านดอกยาว 1.5 เซนติเมตร ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
  • ผลพยอม รูปกระสวย อยู่ใต้กระพุ้งโคนปีก มีปีกยาว 3 ปีก ขนาดกว้าง 0.6-1 เซนติเมตร ยาว 6-8 เซนติเมตร ปลายมนกลม เมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาลแก่ เส้นตามยาวปีกชัดเจน ปีกสั้นมี 2 ปีก กว้าง 0.3-0.4 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร  มีเส้นปีก ปีกละประมาณ 10 เส้น โคนปีกหนา ส่วนกลางผลขนาด 1.2-1.4 เซนติเมตร ปลายยาวและแหลม ผลแก่สีน้ำตาลแดง เมล็ดเกลี้ยง ปลายมีติ่งแหลม เวลาแก่หลุดร่วงแล้วหมุนด้วยปีกไปไกล ติดผลเดือนมีนาคมถึงเมษายน
  •  พบตามป่าเต็งรัง หรือป่าที่ถูกรบกวนน้อย ป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูง 100-1,000 เมตร เมื่อดอกบานจะปกคลุมด้วยดอกสีขาวทั้งต้น มีกลิ่นหอม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับดอกหอม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, เปลือกต้น

สรรพคุณ พะยอม :

  • ดอกพะยอม รสหอมสุขุม ปรุงเป็นยาแก้ลม บำรุงหัวใจ ลดไข้
  • เปลือกต้นพะยอม รสฝาด ต้มดื่มแก้ท้องร่วง แก้ลำไส้อักเสบ ฝนทาสมานบาดแผล ชำระแผล รักษาผดผื่นคัน ทุบเปลือกต้นใส่น้ำตาลสดที่ปาดจากงวงตาลเพื่อกันบูด หรือใส่เครื่องหมักดองเพื่อกันบูด เปลือกใช้ฟอกหนังและเคี้ยวกับหมากได้
  • ยอดอ่อนและเปลือกพะยอม เป็นยาสมานแผล ทำยาเย็นแก้ไข้ แก้ร้อนใน
  • ชันไม้พะยอม ใช้เป็นน้ำมันชักเงา และยาเรือ
  • ดอกอ่อนพะยอม มีรสมัน ลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำมาแกงส้ม ต้มจืด ผัดน้ำมันหอย ผัดกับไข่ หรือชุบไข่ทอด
Scroll to top