พะยูง

ชื่อสมุนไพร : พะยูง
ชื่ออื่น ๆ
: ขะยุง, แดงจีน, ประดู่เสน, พยุง
ชื่อสามัญ : Siamese Rosewood
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia cochinchinensis Pierre
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAEPAPILIONOIDEAE

 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพะยูง เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูงถึง 25 เมตร เมื่อโตเต็มที่ลำต้นเปลา ตรง เปลือกสีเทา เรียบ และล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ เปลือกในสีน้ำตาลแกมเหลือง มีเรือนยอดรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ทึบ ลักษณะเนื้อไม้ เนื้อละเอียด เสี้ยนสนเป็นริ้วแคบ ๆ เหนียว แข็งทนทาน หนักมาก สีน้ำตาลอ่อนแกนสีแดงอมม่วง หรือสีม่วงกึ่งสีเลือดหมูแก่ เป็นมันเลื่อม และมีริ้วสีดำหรือสีน้ำตาลอ่อนผ่าน เลื่อยผา ไสกบ ตบแต่งยาก ขัดและชักเงาได้ดีมีน้ำมันในตัว
  • ใบพะยูง เป็นใบประกอบ ออกเป็นช่อแบบขนนก ช่อติดเรียงสลับ ยาว 10-15 ซม. แต่ละช่อมีใบย่อยรูปรี ๆ แกมรูปไข่ ติดเรียงสลับ 7-9 ใบ ปลายสุดของช่อเป็นใบเดี่ยว ๆ ใบมีลักษณะเหนียวคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ มีลักษณะรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ใบกว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-7 ซม. โคนใบมน แล้วค่อย ๆ เรียวสอบแหลมไปทางปลายใบ ปลายใบแหลมยื่นเล็กน้อย หลังใบมันสีเขียวเข้มกว่าด้านท้องใบ ใบเกลี้ยงไม่มีขนทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบ มี 6-8 คู่ พอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้านขอบใบเรียบ
  • ดอกพะยูง มีขนาดเล็ก สีขาว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ทรงรูปดอกถั่ว ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ยอด กลีบฐานดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ขอบหยักเป็น 5 แฉก กลีบคลุมมีลักษณะคล้ายโล่ กลีบปีกสองกลีบรูปขอบขนาน ส่วนกลีบกระโดงจะเชื่อมติดกัน มีลักษณะคล้ายรูปเรือหรือพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว เกสรผู้มี 10 อัน อันบนจะเป็นอิสระ นอกนั้นจะติดกันเป็นกลุ่ม รังไข่รูปรี ๆ ภายในมีช่องเดียว แต่มีไข่อ่อนหลายหน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว จะยาวยื่นพ้นกลุ่มเกสรผู้ขึ้นมา ระยะเวลาออกดอก ประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
  • ผลพะยูง เป็นฝัก ผิวเกลี้ยง แบน และบอบบาง รูปขอบขนาน กว้าง 1.2 ซม. ยาว 4-6 ซม. ตรงบริเวณที่หุ้มพะยูงเมล็ดมองเห็นเส้นแขนงไม่ชัดเจน ฝักจะแก่ประมาณ 2 เดือน หลังจากออกดอกซึ่งอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ฝักเมื่อแก่จะไม่แตกออกเหมือนฝักไม้แดงหรือฝักมะค่าโม่ง ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดอยู่ในฝัก เมล็ดพะยูง รูปไต สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม ผิวค่อนข้างมัน กว้าง 4 ซม. ยาว 7 มม. เมล็ดจะเรียงตามยาวของฝัก ใน 1 ฝักจะมีเมล็ดจำนวน 1-4 เมล็ด

 

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, เปลือกต้น, ยางสด

สรรพคุณ พะยูง :

  • ราก ใช้รับประทานแก้พิษไข้เซื่องซึม  
  • เปลือกต้น ต้มเอาน้ำอมแก้ปากเปื่อย ปากแตกระแหง
  • ยางสด  ใช้ทาแก้เท้าเปื่อย
Scroll to top