มะกอก

ชื่อสมุนไพร : มะกอก
ชื่ออื่นๆ
:  กูก, กอกกุก(เชียงราย), กอกเขา(นครศรีธรรมราช), ไพแซ(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), กอกหมอง(เงี้ยว-เชียงใหม่), กราไพ้ย, ไพ้ย(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะผร่าเหมาะ(กะเหรี่ยงแดง), กอกป่า(เมี่ยน), มะกอกไทย(ไทลื้อ), มะกอกป่า(เมี่ยน), สือก้วยโหยว(ม้ง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spondias pinnata (L.f.) Kurz.
ชื่อวงศ์ : Anacardiaceae

 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นมะกอก เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25เมตร ลำต้นตั้งตรงและมีลักษณะกลม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งก้านโปร่ง กิ่งมักห้อยลง เปลือกต้นเป็นสีเทา เปลือกหนาเรียบ มีปุ่มปมบ้างเล็กน้อย และมีรูอากาศตามลำต้น
    มะกอก
  • ใบมะกอก เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 4-6 คู่ โดยจะออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน หรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนเบี้ยวหรือสอบไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างนุ่ม ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เนื้อใบหนาเป็นมัน หลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบเรียบ มีก้านใบร่วมยาวประมาณ 12-16 เซนติเมตร
  • ดอกมะกอก เป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน โดยจะออกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ปลายกิ่งหรือออกตามซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมากและมีขนาดเล็ก ดอกย่อยเป็นสีครีม มีกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปรี ปลายกลีบดอกแหลม มีขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
  • ผลมะกอก เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีเหลืองอมสีเขียวถึงสีเหลืองอ่อน ประไปด้วยจุดสีเหลืองและดำ มีรสเปรี้ยวจัด ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวขนาดใหญ่และแข็งมาก ผิวเมล็ดเป็นเสี้ยนและขรุขระ

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล, เนื้อใน, น้ำคั้นจากใบ, เปลือกต้น, ใบ,  เมล็ด, ราก

สรรพคุณ มะกอก :

  • ผล รสเปรี้ยวอมหวานเย็น เป็นยาฝาดสมาน แก้เลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีสูง แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ แก้ธาตุพิการ แก้โรคขาดแคลเซียม
  • เนื้อในผล แก้ธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ และกระเพาะอาหารพิการ แก้บิด
  • ผล ใบ และเปลือกต้น แก้ร้อนใน ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้หอบ บำรุงธาตุ และแก้บิด
  • เปลือกต้น รสฝาดเย็นเปรี้ยว ช่วยสมานแผล มีกลิ่นหอม ฝาดสมานและเป็นยาเย็น ใช้ในโรคท้องเสีย และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ แก้บิดปวดมวน ระงับอาเจียน ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้สะอึก แก้ร้อนใน ดับพิษกาฬ แก้ท้องเสีย แก้สะอึก แก้อาเจียน แก้บิด ปวดมวน
  • ใบ รสฝาดเปรี้ยว แก้ปวดท้อง
  • น้ำคั้นจากใบ หยอดแก้ปวดหู แก้หูอักเสบ
  • ใบ มีกลิ่นหอม รสเปรี้ยว และฝาดสมาน เป็นผักจิ้ม และแต่งกลิ่นอาหาร
  • เมล็ด เผาไฟแช่น้ำดื่ม รสเย็น แก้ร้อนใน สุมแก้หอบ แก้สะอึก
  • ราก รสฝาดเย็น แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ ขับปัสสาวะ
Scroll to top