ยอป่า

ชื่ออื่น : ยอป่า(นครราชสีมา ทั่วไป), คุย(พิษณุโลก), อุ้มลูกดูหนัง(สระบุรี), สลักป่า, สลักหลวง(ภาคเหนือ), ยอเถื่อน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morinda elliptica Ridl.
ชื่อวงศ์ : Rubiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ยอป่า เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5 เมตร ผลัดใบ ทรงพุ่มมีกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ  กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขน ลำต้นสั้น คดงอ เปลือกต้นสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นร่องลึกตามยาว และแนวขวาง หรือเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ เปลือกในสีเทาอ่อนปนเหลือง เนื้อไม้สีเหลือง
  • ใบยอป่า ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปรีแคบ หรือรูปหอกกลับ กว้าง 5-9 ซม. ยาว 10-21 ซม. โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ใบสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า ผิวใบค่อนข้างเกลี้ยงทั้งสองด้าน ใบแก่บาง เส้นใบข้าง 8-10 คู่ เส้นใบย่อยสานเป็นร่างแหชัดเจน เส้นใบตื้นไม่ลึกเหมือนยอบ้าน ก้านใบยาว 0.6-2 ซม. หูใบอยู่ระหว่างก้านใบขนาด 3-5 มม. รูปสามเหลี่ยม ปลายมักเป็นแฉกและเชื่อมกันเป็นแผ่น ร่วงหลุดง่าย
    ยอป่า
  • ดอกยอป่า เป็นดอกช่อสีขาวแบบช่อกระจุก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกเล็ก ขนาด 2 ซม. ออกเป็นกลุ่ม ตามซอกใบและปลายยอด ช่อรูปร่างค่อนข้างกลม โดยมีรังไข่เชื่อมติดกัน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ยาว 1 เซนติเมตร ปลายกลีบหยักเป็น 5 แฉก กลีบดอกสีขาว กลีบดอกเรียวแหลม กลีบดอกบาง เมื่อบานปลายกลีบมักโค้งลง หลอดกลีบเลี้ยงด้านบนแบน เชื่อมติดกับกลีบดอกข้างเคียงที่ฐาน เกสรตัวผู้สั้น 5-6 อัน ติดที่ปากหลอด ไม่โผล่ออกมา ก้านเกสรตัวเมียยาวกว่าหลอดกลีบ ปลายแยก 2 แฉก รังไข่มีหมอนรองดอกชัดเจน ออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายน
  • ผลยอป่า เป็นผลรวม รูปร่างบิดเบี้ยวหรือค่อนข้างกลม ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร ผนังผลเชื่อมติดกัน ผิวผลเรียบ มีตาเป็นปุ่มรอบผล ก้านผลยาว 4 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เนื้อในอ่อนนุ่ม ฉ่ำน้ำ สีขาว ผลแก่สีดำ มีเมล็ดมาก สีน้ำตาล เมล็ดแบน 1 เมล็ดต่อหนึ่งผลย่อย  ติดผลราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ราก, ผลดิบ, ผลสุก

สรรพคุณ ยอป่า :

  • ใบยอป่า แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ม้ามโต
  • ใบสดยอป่า ตำพอกศีรษะฆ่าไข่เหา อังไฟแล้วนำมาปิดที่หน้าอกหน้าท้องแก้ไอ แก้จุกเสียด แก้ม้ามโต แก้ไข้
  • ผลอ่อนยอป่า แก้คลื่นไส้อาเจียน
  • ผลยอป่าสุกงอม ขับระดูสตรี ขับลมในลำไส้ ผลสุกรับประทานได้
  • แก่นยอป่า รสขมร้อน ต้มหรือดองสุรา ดื่มขับเลือด บำรุงเลือด ขับน้ำคาวปลา ขับและฟอกโลหิตระดู แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ขับผายลม ป้องกันบาดทะยักปากมดลูก
  • รากยอป่า แก้เบาหวาน
  • ใบอ่อนยอป่า ยอดอ่อนยอป่า ลวก ต้มให้สุกจิ้มน้ำพริก
Scroll to top