ชื่อสมุนไพร : สำรอง
ชื่ออื่นๆ : จอง, พุงทะลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scaphium Macropodum Beaum.
ชื่อวงศ์ : STERCULIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นสำรอง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงถึง 45 เมตร ผลัดใบ โคนต้นมีพูพอน เปลือกสีเทา มีรอยแผลเป็นทั่วไป เปลือกในสีชมพูมีเส้นตามยาว เรือนยอดเป็นพุ่มกลม รูปกรวยคว่ำ กิ่งก้านมักแตกออกรอบลำต้น ณ จุดเดียวกัน เป็นชั้นๆ แบบฉัตร
- ใบสำรอง ใบเดี่ยว เนื้อใบบาง เกลี้ยงเป็นมันทั้งสองด้าน ใบอ่อนสีแดงเรื่อๆ ใบเรียงแบบสลับ ใบมีหลายรูปร่าง เช่น รูปร่างคล้ายรูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปไข่แกมใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจ ขนาดใบกว้าง 5-20 เซนติเมตร ยาว 10-30 เซนติเมตร และมีใบรูปร่างเป็นแฉกเว้าลึก 2 แฉก ถึง 5 แฉก ก้านใบค่อนข้างยาว ประมาณ 3-15 เซนติเมตร ใบต้นอ่อนมักเป็นหยักมี 3-5 หยัก และมีก้านใบยาวมาก
- ดอกสำรอง ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง แยกเพศ กลีบดอกสีเขียวอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ กลีบเลี้ยงมีขนสีแดง
- ผลสำรอง เป็นผลแห้งรูปกระสวย เมล็ดรีสีน้ำตาลขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร เมล็ดติดอยู่ด้านล่างของปีก คล้ายลูกสมอแห้ง เปลือกบาง แผ่เป็นแผ่นใหญ่ เป็นปีกมีลักษณะโค้งงอ บางคล้ายเรือ สีน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นชัดเจน ผลแก่ ที่เปลือกเมล็ดชั้นนอกมีสารเมือกจำนวนมาก เมื่อแช่น้ำจะพองตัวคล้ายเยลลี่สีน้ำตาล รับประทานได้
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกหุ้มเมล็ด
สรรพคุณ สำรอง :
- เปลือกหุ้มเมล็ด ที่พองตัว รสจืดเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้ใจคอชุ่มชื่น แก้ไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ บำรุงปอดให้แข็งแรง รักษาโรคภูมิแพ้ หอบหืด แก้เสมหะทำให้ไม่อ่อนเพลีย ช่วยบำรุงลำใส้ใหญ่ให้บริหารถ่ายเทได้ดี ช่วยให้ลำไส้บีบรัดตัวดีขึ้น ทำให้ขับถ่ายดี แก้โรคตาแดงอักเสบ
ในประเทศอินเดียมีรายงานว่า สำรองสามารถใช้รักษาอาการอักเสบ แก้ไข้และขับเสมหะ
ในประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน นิยมใช้สำรองร่วมกับชะเอม จีนต้มกับน้ำ แล้วนำมาจิบบ่อย ๆ เพื่อแก้อาการเจ็บคอ
ปัจจุบันมีผู้นำสำรองไปรับประทานเพื่อลดความอ้วน เนื่องจากสำรองสามารถพองตัวได้ดี