ชื่อสมุนไพร : หญ้าพันงูขาว
ชื่ออื่นๆ : ควยงู (ภาคเหนือ), หญ้าพันงู, พันงูขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Achyranthes aspera L.
ชื่อวงศ์ : Amaranthaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นพันงู เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี อาจสูงได้ถึง 1 ม. แตกกิ่งต่ำ กิ่งมักเป็นเหลี่ยมมน ๆ กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มค่อนข้างหนาแน่น
- ใบพันงู ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ยาว 2-10 ซม. ปลายใบกลม แหลม หรือแหลมยาว โคนใบเรียวสอบ แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้านหรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาว 0.5-1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายกิ่ง ตั้งตรง อาจยาวได้ถึง 50 ซม. แกนกลางช่อเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย มีขนทั่วไป
- ดอกพันงู ออกเดี่ยว ๆ บนแกนช่อ ใบประดับแห้งบาง ติดทน รูปไข่ ปลายเรียวแหลม ยาว 2-3 มม. ใบประดับย่อย 2 อัน แนบติดกลีบรวม เรียวยาวคล้ายหนาม ยาว 3-4 มม. โคนมีเยื่อบาง ๆ ขนาด 1.5-2 มม. กลีบรวม 4-5 อัน ขนาดเท่า ๆ กัน รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 5 มม. เกลี้ยง เกสรเพศผู้ 2-5 อัน แผ่นคล้ายเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 5 อัน ด้านหลังเป็นแผ่นเกล็ดขอบเป็นชายครุย ยาวกว่าแผ่นคล้ายเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่รูปไข่กลับ เกลี้ยง สั้นกว่าก้านเกสรเพศมีย มีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาว 2-3.5 มม.
- ผลพันงู แบบผลกระเปราะ ปลายตัด เกลี้ยง เปลือกบาง ยาว 2.5-3 มม. เมล็ดรูปทรงกระบอก เรียบ
ส่วนที่ใช้เป็นยา : : ทั้งต้น, น้ำคั้นจากต้น
สรรพคุณ หญ้าพันงูขาว :
- ทั้งต้น รสขมขื่น เป็นยาขับปัสสาวะ มักใช้รวมกันกับหญ้าพันงูแดงและเรียกรวมกันว่าหญ้าพันงูทั้งสอง เป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคในลำคอ แก้นิ่ว เป็นยาสมานแผลอย่างอ่อน
- น้ำคั้นจากต้น รักษาโรคท้องร่วง บิด ขับประจำเดือน แก้ริดดวงทวาร แก้โรคปวดข้อ แก้การอักเสบของอวัยวะภายใน แก้ฟกช้ำ แก้ฝี แก้หวัดในเด็ก รักษาโรคในช่องท้อง แก้โรคผิวหนัง โรคเกี่ยวกับปอด ซิฟิลิส และโรคที่เกี่ยวกับการคลอดบุตร