หญ้าหวาน

ชื่อสมุนไพร : หญ้าหวาน
ชื่อสามัญ : Stevia
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stevia rebaudiana (Bertoni) Bertoni
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE (ASTERACEAE)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นหญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นแตกกิ่งสาขาตั้งแต่ระดับโคนต้น ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง มีลักษณะทรงกลม เปลือกลำต้นบาง สีเขียวอ่อน หุ้มติดกับแกนลำต้น แกนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย
  • ใบหญ้าหวาน เป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอกแกมขอบขนาน ปลายใบกว้างและแหลม โคนใบป้านหรือสอบ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีรสหวาน
    หญ้าหวาน
  • ดอกหญ้าหวาน ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอดและปลายยอดแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 1-3 ดอก มีกลีบเลี้ยงรูปกรวยสีเขียวปลายแยกเป็นแฉกหลายแฉก ดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบแหลม สีขาวสดใส ใจกลางดอก มีเกสรเป็นเส้นสีขาวบิดงอโผล่พ้นกลีบดอก ดอกออกตลอดปี
    หญ้าหวาน
  • ผลหญ้าหวาน เป็นผลแห้งขนาดเล็ก ไม่ปริแตก ภายในมีเมล็ดเดี่ยวจำนวนมาก เมล็ดสีดำ มีขนปุยปกคลุม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ

สรรพคุณ หญ้าหวาน :

  • ใบ มีสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 200-300 เท่า แต่ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ช่วยลดไขมันในเลือดสูง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ช่วยเพิ่มกำลังวังชา ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและโรคอ้วน ช่วยบำรุงตับอ่อน สมานแผลทั้งภายในและภายนอก ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

แม้ปัจจุบันยังไม่พบข้อห้ามใช้หญ้าหวานที่เด่นชัด แต่ข้อควรระวังคือ

  1. ไม่ควรบริโภคหญ้าหวานใน ปริมาณที่เกินกว่าที่กำหนดในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับคำรับรองความปลอดภัยการบริโภคจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย)
  2. เลี่ยงบริโภคหญ้าหวานในกรณีที่แพ้พืชตระกูลเดียวกับหญ้าหวาน เช่น ดอกเบญจมาศ ดาวเรือง เป็นต้น เนื่องจากผู้ที่แพ้พืชเหล่านี้อาจเสี่ยงมีอาการแพ้หญ้าหวานได้เช่นกัน
  3. ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานหญ้าหวานควรหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งปรึกษาแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติใด ๆ เนื่องจากหญ้าหวานหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากหญ้าหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
  4. สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร และเด็ก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภคหญ้าหวานเสมอ
  5. ผู้บริโภคหญ้าหวานบางรายอาจเกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือชาตามร่างกายได้
  6. ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์หญ้าหวานที่หมดอายุ
Scroll to top