ชื่อสมุนไพร : หญ้าเกล็ดหอย
ชื่ออื่น ๆ : เกล็ดปลา หญ้าตานทราย (เชียงใหม่), ผักแว่นดอย หญ้าตานทราย (แม่ฮ่องสอน), ผักแว่นโคก (นครศรีธรรมราช), หญ้าตานหอย (ภาคกลาง), หนู่เต๊าะโพ (กะเหรี่ยง, แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ Black Cover, Three flowered beggarweed
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Desmodium triflorum (L.) DC.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE (LEGUMINOSAE–PAPILIONOIDEAE)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นหญ้าเกล็ดหอย เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน สูงได้ประมาณ 4.5-12.5 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะแผ่แนบไปกับพื้นดินเป็นวงกว้าง ตามลำต้นและใบมีขนขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นมีขนาดประมาณ 0.6-1.1 มิลลิเมตร
- ใบหญ้าเกล็ดหอย ใบเป็นใบประกอบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับหรือรูปหัวใจกลับ ขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือเว้าตื้น โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ หลังใบไม่มีขน ส่วนท้องมีขนเล็กน้อยถึงน้อยมาก หูใบย่อยมีขนาดเล็กมาก
- ดอกหญ้าเกล็ดหอย ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอดและตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกเป็นสีม่วงสดหรือสีม่วงบานเย็น ช่อดอกยาวประมาณ 0.5-2.5 เซนติเมตร มีดอกย่อยประมาณ 2-5 ดอก กลีบรองดอกที่โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน
- ผลหญ้าเกล็ดหอย ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนและโค้งเล็กน้อย ฝักยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร ตามฝักมีรอยคอดเป็นข้อ ๆ ตามจำนวนของเมล็ด ประมาณ 1-6 ข้อ แต่ละข้อยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมื่อแห้งแต่ละข้อจะหลุดออกจากกัน เมล็ดมีขนาดเล็ก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต มันวาว
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น
สรรพคุณ หญ้าเกล็ดหอย :
- ทั้งต้น รสจืดเย็น เป็นยาดับพิษร้อน แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยฟอกโลหิต แก้ไข้ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ดีพิการ