ชื่อสมุนไพร : เขยตาย
ชื่ออื่นๆ : เขยตายแม่ยายชักปรก, ลูกเขยตาย, ต้นชมชื่น, น้ำเข้า, โรคน้ำเข้า(ใต้), กะรอกน้ำข้าว, ละรอก, กะรอกน้ำ(ชลบุรี), ส้มชื่น, ศรีชมชื่น, น้ำข้าวต้น, พิษนาคราช, พุทธรักษา(สุโขทัย), ประยงค์ใหญ่ (กรุงเทพฯ), มันหมู (ประจวบคีรีขันธ์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.
ชื่อวงศ์ : RUTACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเขยตาย ไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาลเทา ผิวลำต้นตกกระเป็นวงสีขาว แตกกิ่งก้านต่ำตั้งแต่โคนต้น ใบออกดกทึบ
- ใบเขยตาย เป็นใบเดี่ยว รูปหอกแกมวงรี ออกตรงข้าม หรือกึ่งตรงข้าม กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลมถึงกลม โคนสอบเรียว ใบด้านบนๆจะมีสีแดงที่ฐาน ขอบใบเรียบหรือมีรอยจักตื้น แผ่นใบเรียบ ผิวใบทั้งสองด้านมีจุดต่อม ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ลำต้นเป็นเหลี่ยม
- ดอกเขยตาย เป็นช่อเชิงลดแยกแขนง ยาว 10-30 เซนติเมตร ออกดกทึบ ดอกเล็กสีขาว ดอกย่อยเป็นกระจุกละ 12-15 ดอก ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว ขนาด 4-5 x 2-2.5 มิลลิเมตร ผิวมีต่อมเป็นจุด รูปไข่กลับ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร รูปแหลมกึ่งรูปไข่ มีขนอ่อนที่ส่วนปลาย มีใบประดับหุ้ม โดยชั้นบนมี 5 กลีบใหญ่ และมีส่วนย่อยเล็กๆหลายอัน มีต่อมซึ่งปลายเป็นร่อง ก้านชูดอกสั้นมาก เกสรตัวเมียเรียงเป็นวง ตรงกลางแกนดอกมีเกสรตัวผู้เป็นแท่ง รังไข่ขนาดกว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร รูปไข่ เกสรเพศผู้ 8-10 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2-3 มิลลิเมตร
- ผลเขยตาย ผลสดรูปทรงกลมขนาดเล็ก กว้าง 1-1.2 เซนติเมตร ยาว 1-1.8 เซนติเมตร ผิวเรียบ สีเขียวทึบ เมื่อสุกเป็นสีชมพูใส ฉ่ำน้ำ มีรสหวาน มีเมล็ดเมล็ดเดียว ลักษณะกลม เป็นลาย
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, เปลือกต้น, เนื้อไม้, ดอก, ผล
สรรพคุณ เขยตาย :
-
- ราก รสเมาขื่นปร่า กระทุ้งพิษ แก้พิษฝีภายในและภายนอก ขับน้ำนม ฝนน้ำกินและทาแก้พิษงู แก้พิษแมลงกัดต่อย ทาแผลที่อักเสบ แก้ไข้กาฬ แก้โรคผิวหนังพุพอง แก้ไข้รากสาด เกลื่อนฝีให้ยุบ แก้ฝีที่นม ตัดรากฝีที่นม ยับยั้งเชื้อไวรัสบางชนิด
- เปลือกต้น รสเมาร้อน แก้ฝีภายนอกและภายใน กระทุ้งพิษ แก้พิษงู ขับน้ำนม แก้พิษต่างๆ แก้พิษไข้
- เนื้อไม้ กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายนอกและภายใน แก้พิษงู ขับน้ำนม
- ดอกและผล รสเมาร้อน ทารักษาหิด
- ไม่ระบุส่วนที่ใช้ กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายนอกและภายใน แก้พิษงู ขับน้ำนม
เอกสารอ้างอิง
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: น. 141, กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์.
- สยามไภษัชยพฤกษ์ น.129 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง