ชื่อสมุนไพร : เทียนเยาวพาณี
ชื่ออื่นๆ : เทียนเยาวภานี,เทียนเยาวภาณี,เทียนเยาวพานี,เทียนนี(ภาคกลาง,ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trachyspermum ammi (L.) Sprague
ชื่อวงศ์ : Umbelliferae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเทียนเยาวพาณี เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นมีการแตกกิ่งก้านบริเวณปลายยอด กิ่งและก้านเป็นสีเทาอมเขียวหรือสีเขียวเข้ม
- ใบเทียนเยาวพาณี ใบเป็นเส้นฝอย แตกเป็นแฉกๆ คล้ายขนนก ประมาณ 3-4 แฉก
- ดอกเทียนเยาวพาณี ออกเป็นช่อคล้ายร่ม จะออกดอกบริเวณปลายกิ่ง ดอกเทียนเยาวพาณีจะมีขนาดเล็กสีขาว มีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ โดย 1 ช่อ ดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 7-35 ดอก
- ผลเทียนเยาวพาณี มีลักษณะกลมยาวเล็กน้อย เป็นรูปไข่ ตรงกลางป่อง ผลมีสีน้ำตาล ขนาดกว้างประมาณ 0.7-1.4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.8 มิลลิเมตร แยกออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดหรือซีกผลมีลักษณะนูนด้านนอก ส่วนด้านในที่ประกบกันของเมล็ดหรือด้านแนวเชื่อมค่อนข้างแบนหรือนูนเล็กน้อย ด้านที่นูนมีสัน 3 สันตามยาวของเมล็ด ด้านแนวเชื่อม 2 เส้น ปกคลุมไปด้วยขนหรือหนามสั้น ๆ สีขาวหนาแน่น เมื่อนำมาบดให้เป็นผง จะได้ผงสีน้ำตาลมีกลิ่นและรสเฉพาะตัว มีกลิ่นหอม รสหวาน รสร้อนสุขุม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เมล็ด
สรรพคุณ เทียนเยาวพาณี :
- เมล็ด ขับลม กระจายเสมหะ แก้คลื่นไส้ อาเจียน จุกเสียด กระจายโลหิต ขับลมในท้องที่ปั่นป่วนอยู่โดยรอบสะดือ ลมทำให้คลื่นเหียน ทำให้จุกออกจากท้องไป
บัญชียาจากสมุนไพร : ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้เมล็ดเทียนเยาวพาณี ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณี อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง นอกจากนี้ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของ เทียนแดง เทียนดำ เทียนขาว เทียนสัตตบุษย์ และเทียนเยาวพาณี ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ