เนียมหูเสือ

ชื่อสมุนไพร : เนียมหูเสือ
ชื่ออื่นๆ
: ใบหูเสือ (ทั่วไป,ภาคกลาง), หอมด่วนหลวง, หอมด่วนหูเสือ (ภาคเหนือ), เนียมหูเสือ (ทั่วไป,ภาคอีสาน), ผักฮ่านใหญ่(ไทยใหญ่), โฮ่อิ๋มเช่าชี่ปอ, โฮว่ฮีเช่า, เนียมอีไหลหลึง(จีน)
ชื่อสามัญ :
Indian borage, French thyme, Country borage, Mexican mint, Spanish thyme, Oreille
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng. ( Syn. Coleus amboinicus Lour.)
ชื่อวงศ์ : LAMIACEAE (LABIATAE)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นเนียมหูเสือ เป็นไม้ล้มลุก อายุ 2-3 ปี สูงประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นอวบน้ำ หักได้ง่าย ลำต้นและกิ่งค่อนข้างกลม ต้นอ่อนมีขนหนาแน่น เมื่อแก่ขนจะค่อยๆหลุดร่วงไป
  • ใบเนียมหูเสือ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน ออกตรงข้าม ใบรูปไข่กว้างค่อนข้างกลม หรือรูปสามเหลี่ยมด้านเนียมหูเสือเท่า ใบกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 3-8 เซนติเมตร ใบขยี้ดมมีกลิ่นหอมฉุน ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ขอบใบจักเป็นคลื่นมนรอบๆใบ ใบหนา อวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก ก้านใบยาว 2-4.5 เซนติเมตร

 

  • ดอกเนียมหูเสือ ออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร อยู่ตามปลายกิ่งหรือยอด ดอกย่อยติดหนาแน่นเป็นวงรอบแกนกลาง เป็นระยะๆ มีขน ช่อหนึ่งๆ มีดอกประมาณ 6-8 ดอก ทยอยบานทีละ 1-2 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกสีม่วงขาว รูปเรือ ยาว 8-12 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 3-4 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบบนสั้น ตั้งตรง มีขน กลีบล่างยาว เว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว 2-4 มิลลิเมตร มีขน และมีต่อม ปลายแยกเป็น 5  แฉก แฉกบนรูปไข่กว้าง ปลายแหลม แฉกข้างๆ รูปหอกแคบ แฉกล่างยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ใบประดับรูปไข่กว้าง ยาว 3-4 เซนติเมตร ปลายแหลม ก้านสั้น
  • ผลเนียมหูเสือ มีเปลือกแข็ง เล็ก กลมแป้น สีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ต้น, ยางจากใบ

สรรพคุณ เนียมหูเสือ :

  • ใบ และต้น มีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน นำมาคั้นเอาน้ำหยอดแก้ฝีในหู แก้ปวดหู พิษฝีในหู หูน้ำหนวก ปิดห้ามเลือด ขยี้ทาท้องเด็กแก้ท้องอืด  ช่วยเจริญอาหาร แก้ไข้หวัดในเด็ก และแก้โรคหืด
  • ใบ บำรุงร่างกาย แก้ไอเรื้อรัง หืดหอบ แก้ลมชักบางประเภท ต้มน้ำกินแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กินหลังคลอดขับน้ำคาวปลา
  • ยางจากใบ  ผสมกับน้ำตาลกินขับลม แก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ใช้ภายนอกเป็นยาพอกศีรษะแก้ปวด ลดไข้ แก้แมงป่องต่อย ตะขาบกัด แก้หิด รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาอาการบวม ตำพอกแก้ปวดข้อ ขยี้ทาห้ามเลือด คั้นน้ำทาแผลเรื้อรัง หรือนำไปทำยานัตถุ์เพราะมีกลิ่นหอม ใส่ยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง และอมดับกลิ่นคาวอาหาร
  • ยอดอ่อนและใบ รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ลาบ หรือใส่แกง
Scroll to top