เลี่ยน

ชื่อสมุนไพร : เลี่ยน
ชื่ออื่นๆ :
เกรียน, เคี่ยน, เฮี่ยน (ภาคเหนือ), เลี่ยนใบใหญ่, เคี่ยน, เลี่ยน, เกษมณี (ภาคกลาง), เลี่ยนดอกม่วง (ทั่วไป), ลำเลี่ยน (ลั้วะ), โขวหนาย (จีนแต้จิ๋ว), ขู่เลี่ยน, ขู่เลี่ยนซู่ (จีนกลาง)
 ชื่อสามัญ :  Bastard cedar, Bead tree, Chaina tree, Chinaball tree, Persian lilac, White cedar
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melia azedarach Linn.
ชื่อวงศ์ : MELIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นเลี่ยน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กผลัดใบ มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เลี่ยนเล็กมีความสูงได้ประมาณ 10-15 เมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่จะมีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร (มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน) แตกกิ่งก้านโปร่งบางและแผ่กว้าง โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่องตามยาวตื้น ๆ เปลือกต้นมีรูขนาดเล็กอยู่ทั่วไป กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งแก่เป็นสีม่วง
    เลี่ยน
  • ใบเลี่ยน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับ มักทิ้งใบเหลืออยู่ที่ปลายกิ่ง หรือช่อใบออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ช่อใบยาวได้ประมาณ 8 นิ้ว ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปรีกึ่งขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเกลี้ยง ด้านบนใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน และตามเส้นใบจะมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ เลี่ยนเล็กใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่ ใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร
  • ดอกเลี่ยน เป็นช่อตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวอมม่วง มีกลิ่นหอมเย็นอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5-6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ดอกยาวประมาณ 0.5 นิ้ว ก้านเกสรเพศผู้มีสีม่วงเข้มติดกันเป็นหลอด ซึ่งจะตัดกับกลีบดอกน่าดูมาก ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5-6 แฉก และดอกที่โคนก้านช่อจะบานก่อน แล้วจะค่อย ๆ บานขึ้นไปตามลำดับ
    เลี่ยน
  • ผลเลี่ยน ผลมีลักษณะกลมรี เลี่ยนเล็กผลยาวได้ประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่ ผลจะยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลสุกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลเหลือง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวสีน้ำตาล[1],[2] บ้างว่าในผลจะแบ่งออกเป็น 4-5 ห้อง และในแต่ละห้องจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด และเมล็ดเป็นรูปเหลี่ยมสีดำ
    เลี่ยน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ยาง, เมล็ด, ผล, ดอก, น้ำคั้นจากใบ, ใบ, เปลือกต้น

สรรพคุณ เลี่ยน :

  • ทุกส่วนของต้น รสขม เมา แก้โรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อนและกุดถัง ทำให้ผิวหนังดำเกรียมแล้วลอกเป็นขุย เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง
  • ยาง แก้ม้ามโต
  • เมล็ด  แก้ปวดในข้อ
  • ผล  แก้โรคเรื้อนและฝีคันทะมาลา
  • ดอก  แก้โรคผิวหนัง
  • น้ำคั้นจากใบ  ขับพยาธิ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว บำรุงโลหิต ประจำเดือน
  • ดอก  และใบ พอกแก้ปวดศีรษะ ปวดประสาท
  • เปลือกต้น  รักษาเหา
Scroll to top