แคบ้าน

แคบ้าน

ชื่อสมุนไพร :  แคบ้าน,
ชื่ออื่นๆ
แค, แคบ้านดอกแดง, แคขาว(ภาคกลาง), แคแดง(เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Sesbania grandiflora ( Desv. ) Linn.
ชื่อวงศ์ : PAPILIONACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นแคบ้าน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามากไม่เป็นระเบียบ มีความสูงประมาณ 3-10 เมตร เนื้อไม้อ่อน ที่เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกหนาและมีรอยขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด
  • ใบแคบ้าน  เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยขนาดเล็กรูปขอบขนาน ปลายใบมนกว้าง ขอบใบและแผ่นใบเรียบ ใบสีเขียว กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร
  • ดอกแคบ้าน ลักษณะของดอกคล้ายดอกถั่ว ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ 2-3 ดอก ดอกมีกลิ่นหอม ดอกเป็นสีขาวหรือสีแดง มีก้านเกสรตัวผู้สีขาวอยู่ 60 อัน กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังหรือรูปถ้วย
  • ผลแคบ้าน (ฝัก) : มีลักษณะเป็นฝักกลมยาว มีความยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ผสมเกสรโดยนก ฝักเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก และมีเมล็ดอยู่ด้านใน ฝักแคมีสีเขียวอ่อน สามารถรับประทานเป็นอาหารได้ เมล็ดแคบ้าน มีลักษณะเหมือนลิ่ม เมล็ดกลมแป้น สีน้ำตาล มีหลายเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา เปลือกต้น, ดอก, ใบสด, ยอดอ่อน

สรรพคุณ แคบ้าน :

  • เปลือกต้นแคบ้าน  ต้มหรือฝนรับประทาน แก้โรคบิดมีตัว แก้มูกเลือด แก้ท้องเดิน ท้องร่วง คุมธาตุ ใช้ภายนอก ใช้ชะล้างบาดแผล
  • ดอก,ใบแคบ้าน รับประทานแก้ไข้เปลี่ยนอากาศ เปลี่ยนฤดู (แก้ไข้หัวลม)
    ชาวอินเดีย ใช้สูดน้ำที่คั้นได้จากดอกหรือใบแคเข้าจมูกรักษาโรค ริดสีดวงในจมูก และทำให้มีน้ำมูกออกมา แก้ปวดและหนักศีรษะ ลดความร้อน ลดไข้
  • ใบสดแคบ้าน รับประทานใบแคทำให้ระบาย ใบแค ตำละเอียด พอกแก้ช้ำชอก

วิธีและปริมาณที่ใช้ : แก้มูกเลือด บิดมีตัว แก้ท้องเดิน ท้องร่วง คุมธาตุ ใช้เปลือกต้นปิ้งไฟ 1 ส่วน ต้มกับน้ำหรือน้ำปูนใส 10 ส่วน รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง แก้ไข้ ลดความร้อน แก้ไข้หัวลม (หรือไข้อากาศเปลี่ยน) ใบสด ต้มกับน้ำรับประทานลดไข้ ใช้ยอดอ่อนจำนวนไม่จำกัด ลวกจิ้มกับน้ำพริก รับประทานแก้ปวดศีรษะข้างเดียว หรือใช้ดอกที่โตเต็มที่ล้างน้ำ ต้มกับหมูทำบะช่อ 1 ชาม รับประทาน 1 มื้อ รับประทานติดต่อกัน 3-7 วัน จะได้ผล

Scroll to top