ชื่อสมุนไพร : แคแสด
ชื่ออื่นๆ : แคแดง(กรุงเทพฯ), ยามแดง
ชื่อสามัญ : Africom tulip tree, Fire bell, Fountain tree, Pichkari, Nandi flame, Syringe
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spathodea campanulata P.Beauv.
ชื่อวงศ์ : BIGNONIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นแคแสด เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดพุ่มกลมและค่อนข้างทึบ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีรอยแตกเป็นรวงตามยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือใช้หน่อ หากปลูกในที่แห้งมากจะผลัดใบ แต่จะไม่พร้อมกังทั้งต้น และถ้าหากตัดแต่งกิ่งให้แตกเป็นพุ่มกลม ก็จะให้ดอกที่พุ่มกลมตามรูปของเรือนยอดและดูสวยงามมาก
- ใบแคแสด ใบเป็นใบผสมแบบขนนก มีใบย่อยประมาณ 4-7 คู่ ส่วนปลายเป็นใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบผิวใบจักแล้วสากระคายมือ
- ดอกแคแสด ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งตรง มีก้านช่อดอกยาว แต่ละช่อจะมีดอกจำนวนมากและจะทยอยกันบานครั้งละ 2-6 ดอกและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-9 เซนติเมตร กลีบดอกติดกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูประฆัง คล้ายดอกทิวลิป เป็นสีแสดหรือสีเลือดหมู ดอกแคแสดมีขนาดใหญ่ กลีบดอกหลุดร่วงได้ง่าย โดยจะเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุได้ประมาณ 4-8 ปี และจะออกดอกตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงฤดูหนาว ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
- ผลแคแสด มีผลเป็นฝักคล้ายรูปเรือสีดำ ปลายผลแหลม ผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล เมื่อผลแก่จะแตกเป็นด้านเดียว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดเล็กแบนและมีปีก โดยจะออกผลตลอดทั้งปี
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกต้น, ใบ, ดอก
สรรพคุณ แคแสด :
- เปลือกต้น ใช้รักษาแผล โรคผิวหนังและแผลเรื้อรัง แก้บิด ใช้ต้มแก้ท้องผูกชนิดพรรดึก และบำรุงธาตุ
- เปลือกต้น, ใบ ใช้รักษาโรคน้ำเหลืองเสีย
- ดอก ใช้รักษาแผลเรื้อรัง
- เมล็ด ใช้เป็นสีย้อมผ้าฝ้ายให้สีแดง
การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดเป็นวิธีที่ง่ายและได้ปริมาณมาก ได้ผลสูง การขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น ๆ เช่น การตอน ปักชำนั้น ไม่ค่อยมีผู้นิยมทำกัน เพราะแคแสดที่ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดนั้น ก็เจริญเติบโตรวดเร็วจะออกดอกภายในระยะเวลา 3 ปี ลักษณะนิสัยของแคแสดนั้นชอบแดด ปลูกกลางแจ้งที่มีแสงแดดส่องโดยตรงตลอดวัน
เอกสารอ้างอิง
- พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับในเมืองไทย. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม : น.177
- พืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ . สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก (เขาหินซ้อน) . น.54
- สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย . วุฒิ วุฒิธรรมเวช. น.154