ชื่อสมุนไพร : แสงจันทร์
ชื่ออื่นๆ : บานดึก, ดอกพระจันทร์, แสงนวลจันทร์
ชื่อสามัญ : Cabbage Tree, Gatae, Lettuce tree, moonlight tree, Pisonia, Puatea, Mollucean Cabbage, Nachukottaikeerai, Chinai-Salit
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pisonia grandis R. Br.
ชื่อวงศ์ : NYCTAGINACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นแสงจันทร์ เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 5-10 เมตร ผิวเปลือกลำต้นสีขาวเทา ผิวลำต้นเรียบ ลำต้นและกิ่งเจริญออกไปรอบต้น
- ใบแสงจันทร์ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 6-15 เซนติเมตร ยาว 15-35 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบมนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างบางและอ่อน สีเหลืองอมเขียว ผิวใบด้านล่างสีนวล ใบอ่อนสีเหลืองนวลหรือเหลืองอมเขียวอ่อน ก้านใบอวบยาว 2.5-4 เซนติเมตร
- ดอกแสงจันทร์ ออกเป็นช่อ ช่อดอกประกอบด้วยดอกเล็กๆติดอยู่ที่ก้านดอกประมาณ 10 – 15 ดอก มี 5 กลีบ สีขาว ช่อดอกจะออกตามปลายยอด
- ผลแสงจันทร์ ไม่พบการติดผล ขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่งขนาดใหญ่และตอนกิ่ง
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ
สรรพคุณ แสงจันทร์ :
- ใบ รสจืด ขับปัสสาวะ ตำพอกแก้อักเสบ ฟกบวม พอกแก้แผลอักเสบ
(ใบนำมาประกอบอาหารรับประทานได้ เช่น รองห่อหมก รสคล้ายใบยอ )
ด้วยความที่ใบของต้นแสงจันทร์มีสีเหลืองอ่อนอมเขียว ในยาวราตรีเมื่อกระทบกับแสงจันทร์ จะเกิดเป็นประกายสีนวล ดูสดใสทำให้บ้านสว่างไสว อย่างอ่อนโยนดุจดั่งแสงจันทร์ในคืนเดือนเพ็ญ ด้วยเหตุที่ว่านี้คนไทยโบราณจึงมีความเชื่อกันว่าหากบ้านใดปลูกต้นแสงจันทร์ในบ้านแล้วละก็ จะช่วยส่งเสริมให้บ้านแลดูสว่างไสว งดงาม มีแต่สิ่งดีงาม ดุจมีดวงไฟส่องนำทางให้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน อีกทั้งยังมีความเชื่อว่า ผู้คนในบ้านมีอุปนิสัย สุขุม เรียบร้อย อ่อนโยน มีเสน่ห์ และเป็นมงคลกับชีวิตได้
ปัจจุบันสายพันธุ์ของต้นแสงจันทร์ที่นิยมปลูกในไทยจะเป็นพันธุ์ที่มีที่มาจากศรีลังกาและฟิลิปปินส์เป็นหลัก และสามารถจำแนกออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ นั่นคือ ต้นแสงจันทร์ใบเหลือง ซึ่งจะเป็นพันธุ์ที่พบมากพบได้โดยทั่วไป และ ต้นแสงจันทร์ใบด่าง ซึ่งจะเป็นพันธฺไม้ด่างที่มีลักษณะพิเศษทั้งสีและลวดลาย และหายากมีราคาสูงกว่าปกติมาก