ชื่อสมุนไพร : โคคลาน
ชื่ออื่นๆ : มะปอบเครือ(เหนือ), กุระเปี้ยะ (ปัตตานี), โพคาน (ชัยนาท), แนวน้ำ (ประจวบคีรีขันธ์), เยี่ยวแมว (ใต้), เยี่ยวแมวเถา (นราธิวาส), มะกายเครือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mallotus repandus (Willd.) Muell. Arg.
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นโคคลาน เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย เนื้อแข็ง สูง 3-6 เมตร ตามกิ่งก้านและช่อดอกมีขนนุ่มรูปดาว
- ใบโคคลาน ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปไข่กว้าง กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ฐานใบกว้างกลมปิด ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ หลังใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสั้นนุ่มสีเหลือง รูปดาว หนาแน่น หูใบรูปสามเหลี่ยม ขนาด 1 มิลลิเมตร ก้านใบยาว 1.5-6 เซนติเมตร มองเห็นเส้นใบชัดเจน 3 เส้น ที่ฐานใบ
- ดอกโคคลาน ดอกช่อกระจุก ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยหลายดอก สีขาวแกมเหลือง แยกเพศอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้ออกที่ปลายยอด ยาว 5-15 เซนติเมตร มักแตกแขนง ใบประดับรูปลิ่มแคบ ขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ดอกเพศผู้ออกรวมเป็นกระจุก 2-5 ดอก ก้านชูดอกย่อยขนาด 2-4 มิลลิเมตร วงกลีบเลี้ยงแยกเป็น 3-4 พู รูปขอบขนาน ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม เกสรเพศผู้ 40-75 อัน ช่อดอกเพศเมียยาว 5-8 เซนติเมตร ใบประดับรูปหอก ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4-5 อัน รูปหอก ขนาด 2-3 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม รังไข่มี 2 ห้อง สีเหลืองเข้ม มีขนนุ่ม ก้านชูยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนยาวนุ่ม
- ผลโคคลาน ผลแห้งแตกแบบแคปซูลมี 2 ห้อง รูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเหลือง มีขนนุ่ม ก้านผลยาว 8-12 มิลลิเมตร เมื่อแก่แตกตรงกลางพู
- เมล็ดโคคลาน กึ่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร สีดำ
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เถา, ราก, ผล, เมล็ด
สรรพคุณ โคคลาน :
- เถาโคคลาน รสเอียนเบื่อ ปรุงเป็นยารับประทาน แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้เส้นเอ็นตึงแข็ง ปวดหลัง ปวดเอว แก้ไตพิการ ปัสสาวะพิการ บำรุงโลหิต แก้กระษัย
- รากโคคลาน รสเอียนเบื่อ แก้ปวดเมื่อย ครั่นตัว แก้เส้นตึง ขับปัสสาวะ บำรุงโลหิต
- ผลโคคลาน รสขมเมาเบื่อ มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง รักษาคนกินยานอนหลับ พวก Barbiturate เกินขนาด และยังสามารถใช้เบื่อปลา
- เมล็ดโคคลาน รสขมเมาเบื่อ ทำขี้ผึ้งรักษาโรคผิวหนัง ตามคอและศีรษะ