ชื่อสมุนไพร : โหระพา
ชื่ออื่นๆ : ห่อกวยซวย, ห่อวอซุ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), อิ่มคิมขาว(ฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Sweet basil, Thai basil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum basilicum Linn.
ชื่อวงศ์ : LABIATAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นโหระพา เป็นพืชล้มลุก มีระบบรากแก้ว และรากฝอย ลำต้นมีความสูงประมาณ 40-100 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แก่นด้านในเป็นไม้เนื้ออ่อน ผิวลำต้นอ่อนหรือกิ่งอ่อนมีสีม่วงแดง ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับต่ำของลำต้นจนแลดูเป็นทรงพุ่ม กิ่งแตกออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน
- ใบโหระพา ออกเป็นใบเดี่ยว แทงออกบริเวณข้อของกิ่ง ใบมีรูปไข่ คล้ายใบกะเพรา ใบมีสีเขียวเข้มหรือม่วงแดงหรือเขียวอมม่วง กว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร โคนใบมน ใบปลายแหลม แผ่นใบเรียบ และค่อนข้างเป็นมัน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ใบไม่มีขน ใบมีน้ำมันหอมระเหยทำให้มีกลิ่นหอม
- ดอกโหระพา ดอกมีสีขาวหรือม่วงอ่อน ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 7-12 เซนติเมตร มีใบประดับสีเขียวอมม่วงซึ่งจะคงอยู่เมื่อเป็นผล กลีบดอกมีโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 2 ส่วน เกสรตัวผู้ 4 อัน
- ผลโหระพา ผลเป็นสีน้ำตาล มีเมล็ด 4 เมล็ด ซึ่งเมล็ดเป็นรูปกลมรียาวประมาณ 2 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : : ทั้งต้น, เมล็ด, ราก
- ทั้งต้น เก็บเมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาว ขณะเจริญเต็มที่ มีดอกและผลล้างให้สะอาด หั่นเป็นท่อนตาแห้งเก็บไว้ใช้
- เมล็ด นำต้นไปเคาะ แยกเอาเมล็ดตากแห้งเก็บไว้ใช้ (ระวังไม่ให้ถูกน้ำเพราะจะจับกันเป็นก้อน)
- ราก ใช้รากสด หรือตากแห้ง เก็บไว้ใช้
สรรพคุณ โหระพา :
- ทั้งต้น รสฉุน สุขุม ขับลม ทำให้เจริญอาหาร แก้ปวดหัว หวัด ปวดกระเพาะอาหาร จุกเสียดแน่น ท้องเสีย ประจำเดือนผิดปกติ ฟกช้ำจากหกล้ม หรือกระทบกระแทก งูกัด ผดผื่นคัน มีน้ำเหลือง
- เมล็ด รสชุ่ม เย็น สุขุม ถูกน้ำจะพองตัวเป็นเมือก ใช้แก้ตาแดง มีขี้ตามาก ต้อตา ใช้เป็นยาระบาย (ใช้เมล็ด 4-12 กรัม แช่น้ำเย็นจนพอง ผสมน้ำหวาน เติมน้ำแข็งรับประทาน)
- ราก แก้เด็กเป็นแผล มีหนองเรื้อรัง