ผักบุ้งจีน

ชื่อสมุนไพร : ผักบุ้งจีน
ชื่อสามัญ : Water Convolvulus, Kang-Kong
ชื่อวิทยาศาสตร์ : pomoea aquatica Forsk. Var. reptan
ชื่อวงศ์ : Convolvulaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ผักบุ้งจีน เป็นระบบรากแก้ว มีรากแขนงแตกออกทางด้านข้างของรากแก้วและยังสามารถแตกรากฝอยผักบุ้งจีนออกมาจากข้อของลำต้นได้ด้วย โดยมักจะเกิดตามข้อที่อยู่บริเวณโคนเถา เป็นไม้ล้มลุก ในระยะแรกของการเจริญเติบโตจะมีลำต้นตั้งตรง ในระยะต่อไปลำต้นจะเลื้อยทอดยอดไปตามพื้นดินหรือนํ้า ลำต้นมีสีเขียวและปล้องข้างในกลวง รากจะเกิดที่ข้อทุกข้อที่สัมผัสกับพื้นดินหรือนํ้า ที่ข้อมักมีตาแตกออกมา ทั้งตาใบและตาดอก โดยตาใบจะอยู่ด้านนอก ส่วนตาดอกจะอยู่ด้านใน
  • ใบผักบุ้งจีน เป็นใบเดี่ยว รูปร่างคล้ายหอก โคนใบกว้างแล้วค่อยๆ เรียวเล็กไปตอนปลาย ปลายใบแหลมที่โคนใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบมีความยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3-8 เซนติเมตร สำหรับการจัดเรียงของใบเป็นแบบเรียงสลับ ข้อหนึ่งจะมีใบเพียงใบเดียว
  • ดอกผักบุ้งจีน เป็นดอกสมบูรณ์ คือมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่ละดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 อัน กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ดอกมีสีขาว การจัดเรียงของกลีบดอกขณะที่ดอกยังตูมอยู่จะซ้อนกันเป็นใบจักร เมื่อบานจะมีขนาด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร
  • ผลผักบุ้งจีน เป็นผลเดี่ยว รูปร่างค่อนข้างกลม มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่ออายุ ประมาณ 30 วันหลังดอกบาน มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.42 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะมีขนาดเล็กลง ลักษณะผิวภายนอกจะเหี่ยวย่น ขรุขระ ไม่แตก เมื่อแห้งสีของผลเมื่อแก่จะมีสีนํ้าตาลหรือนํ้าตาลเข้ม ใน 1 ผลมีเมล็ด 4-5 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้น, ใบ, ลำต้น, ราก

สรรพคุณ ผักบุ้งจีน :

  • ทั้งต้น รสจืดเย็น ต้มกับน้ำตาลทรายแดง หรือต้มน้ำดื่ม ถอนพิษยาเบื่อเมา ตำพอกหรือทาดับพิษฝี แก้อักเสบบวม ถอนพิษผิดสำแดง
  • ใบ รสจืดเย็น ถอนพิษทั้งปวง แก้พิษเบื่อเมา แก้ตาฟาง
  • ลำต้น และใบ แก้เลือดกำเดาออก แก้ท้องผูก แก้โรคหนองใน บรรเทาอาการริดสีดวง ถ่ายเป็นมูกเลือด บรรเทาอาการบวม ฟกช้ำ บรรเทาอาการปวดจากแมลงกัดต่อ
  • ราก บรรเทาอาการตกขาวในสตรี บรรเทาอาการไอเรื้อรัง บรรเทาอาการปวดบวมของแผล
Scroll to top