ผักเขียด

ชื่อสมุนไพร : ผักเขียด
ชื่ออื่นๆ :
ผักขาเขียด, นิลบล, ผักฮิ้น, ผักฮิ้นน้ำ, ผักริ้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monochoria vaginalis (Burm.f.) Presl.
ชื่อวงศ์ : Pontederiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นผักเขียด เป็นพืชน้ำ มีเหง้าหรือลำต้นใต้ดินสั้นมาก โดยส่วนที่เห็นเป็นลำต้นที่ทอดเลื้อยนั้นคือส่วนของก้านใบที่อัดรวมกันแน่นและ มีรากฝอยหยังลึกลงในดินซึ่งจะมีสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก
  • ใบผักเขียด ใบออกเป็นใบเดี่ยวจากโคนต้นแบบเรียงสลับ ก้านใบกลมเรียงยาว 9-55 มิลลิเมตร ลักษณะ ผักเขียดอวบน้ำ ภายในกลวง บริเวณโคนก้านใบมีลักษณะเป็นกาบหุ้มอัดรวมกันอยู่แน่น ลักษณะของใบมีรูปร่างต่างกันไป เช่น คล้ายรูปหัวใจ รูปเรียวยาว รูปไข่ รูปหัวใจแกมรูปไข่ เป็นต้น โดยมีขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 6-13 เซนติเมตร ส่วนโคนใบลักษณะเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบมีความยาวประมาณ 9-85 มม.

 

  • ดอกผักเขียด ดอกเป็นช่อแบบ Raceme  ช่อดอกหนึ่งๆ จะประกอบด้วยดอกย่อยสีขาว หรือสีน้ำเงิน มีตั้งแต่ 2-15 ดอก ซึ่งแต่ละดอกจะมี กลีบทั้งหมด 6 กลีบ แต่ละกลีบยาว 11-15 มิลลิเมตร ด้านนอกของกลีบมีสีเขียว โดยจะมีก้านดอกยาว 2.5-25 มิลลิเมตร ยื่นออกจากก้านใบด้านบน และมีเกสรตัวผู้ 6 อัน ติดกันเป็นแผงตั้งอยู่บนฐานรองดอก   (Receptacle) ส่วนเกสรตัวเมียมีสีม่วงมีรังไข่อยู่เหนือโคนกลีบรวม รูปร่างยาวรี
  • ผลผักเขียด เป็นแคปซูล ยาวประมาณ 1 ซม. เมื่อแก่ผลจะแตกออกโดยแตกตามยาวเป็น 3 ซีก ด้านในมีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ

สรรพคุณ ผักเขียด :

  • ใบ  รสจือขื่นเล็กน้อย น้ำคั้นรับประทานแก้ไอ ขับปัสสาวะ ตำพอกฝี

ผักเขียด สามารถนำมาใช้เป็นอาหารโดยใช้เป็นผักตามฤดูกาล เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกนำมาใช้รับประทานเป็นผัก ซึ่งมักจะเก็บมารับประทานในช่วง 2-3 อาทิตย์แรกเท่านั้น โดยจะรับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือ กับแกงรสจัดของภาคใต้ หรืออาหารรสจัดประเภท ลาบ ยำ ก้อย ส้มตำได้ นอกจากนี้ยังนำไปแกงส้ม แกงกับปลาหรือเนื้อหมูก็ได้เช่นกัน

Scroll to top