ชื่อสมุนไพร : แทงทวย
ชื่ออื่นๆ : กายขัดหิน, ขี้เนื้อ, กือบอ, ซาบอเส่, ขางปอย, ซาดป่า, ขี้เต่า, คำแดง, ทองทวย, มะคาย, แสด, ชาตรีขาว, ทองขาว, พลับพลาขี้เต่า, คำแสด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mallotus philippensis M
ชื่อวงศ์ : EUPHOBIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นแทงทวย เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาและมักมีร่อง ที่กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม และมียางสีแดง
- ใบแทงทวย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร บ้างว่ายาวได้ประมาณ 4-22 เซนติเมตร หลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนอยู่หนาแน่นและมีต่อมเกล็ดเป็นจำนวนมาก มีเส้นแขนงใบ 3 เส้นใบ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาล และมีก้านใบยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ส่วนหูใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร
- ดอกแทงทวย ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและตามปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่บนต้นเดียวกัน โดยช่อดอกเพศผู้จะมีความยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร ออกเป็นกลุ่มประมาณ 3-4 ดอก ดอกเป็นสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร ดอกไม่มีกลีบดอก แต่มีเฉพาะกลีบเลี้ยงดอก 3-4 กลีบ และดอกมีเกสรเพศผู้ 15-20 อัน ส่วนช่อดอกเพศเมียจะมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร โดยดอกเพศเมียจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3 เซนติเมตร เป็นสีเหลืองหรือสีแดง มีกลีบเลี้ยงดอกมีประมาณ 3-6 กลีบ มีรังไข่ 2-3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียจะยาวได้ประมาณ 0.1 เซนติเมตร ปลายเกสรแยกเป็น 3 แฉก และยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร และตามช่อดอกทุกส่วนจะมีขนปกคลุม
- ผลแทงทวย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น แบ่งออกเป็นพู 3 พู ผลมีขนาดประมาณ 0.7-0.9 เซนติเมตร ผิวของผลมีขนสั้นและต่อมผงเล็ก ๆ สีแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม ผลเมื่อแห้งจะแตกออกตามพู ภายในมีเมล็ดสีดำ ลักษณะของเมล็ดคำแสดเป็นรูปทรงรี มีความยาวประมาณ 0.4 เซนติเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เมล็ด, ใบ, ดอก, เปลือกต้น
สรรพคุณ แทงทวย :
- ใบ รสเฝื่อน ใช้พอกบาดแผล
- ดอก รสเฝื่อน รักษาแผลเรื้อรัง
- เปลือกต้น รสเฝื่อน รักษาโรคผิวหนัง และแผลเรื้อรัง แก้พรรดึก บำรุงธาตุ
- เมล็ด ใช้เบื่อปลา