ทุเรียนเทศ

ชื่อสมุนไพร : ทุเรียนเทศ
ชื่ออื่น
: ทุเรียนแขก (ภาคกลาง) , มะทุเรียน (ภาคเหนือ) , หมากเชียดหลบ , หมากพิลด (ภาคอีสาน) , ทุเรียนน้ำ (ภาคใต้) ,ทุเรียนนก , ทุเรียนเบา , ทุเรียนรอปา ,รอปา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Annona muricata L
ชื่อวงศ์ : ANNONACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 

  • ต้นทุเรียนเทศ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลคล้ายทุเรียนสีเขียวสด แต่เปลือกไม่มีหนามแหลมและนิ่มเมื่อสุก ดอกมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงบ่าย เนื้อในผลมีรสหวานอมเปรี้ยวเป็นเส้นใยเกาะกันเหนียวแน่น เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กแตกกิ่งก้านค่อนข้างมาก ลำต้นมีความสูง 5 – 6 เมตร
  • ใบทุเรียนเทศ เป็นใบเดี่ยว ค่อนข้างหนา ใบเรียงสลับกันไปในระนาบเดียวกับกิ่ง ใบมีรูปร่างรี ผิวใบอ่อนเป็นมัน เมื่อฉีกใบจะได้กลิ่นเหม็นเขียวฉุนจัด
  • ดอกทุเรียนเทศ เป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ห้อยลงที่ซอกใบ อยู่รวมกัน 3 – 4 ดอก กลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมหนาแข็ง จำนวน 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ๆ ละ 3 กลีบ มีสีเหลืองแกมเขียว ออกดอกตลอดทั้งปี มีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงบ่าย
  • ผลทุเรียนเทศ มีสีเขียวรูปกลมรี มีหนามนิ่มที่เปลือกผล ผลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 – 20 เซนติเมตร ยาว 15 – 30 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 0.5 – 3.0 กิโลกรัม ภายในมีเนื้อคล้ายน้อยโหน่ง สีขาว มีรสเปรี้ยว รสหวานเล็ก น้อย เนื้อจะไม่แยกแต่ละเมล็ดเป็นหนึ่งตาเหมือนน้อยหน่า ถ้าผลดิบมีรสอมเปรี้ยว และมีรส มันเล็กน้อย
  • เมล็ดทุเรียนเทศ แก่สีน้ำตาลดำ หุ้มด้วยเนื้อสีขาว

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล, เมล็ด, ใบ

สรรพคุณ ทุเรียนเทศ :

  • ผลสุก รับประทานแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน
  • ผลดิบ รับประทานแก้โรคบิด
  • เมล็ด ใช้สมานแผลห้ามเลือด ใช้เบื่อปลาและฆ่าแมลง
  • ใบ ทำเป็นชาชงดื่มแก้อาการเครียด ช่วยลดอาการเจ็บปวดและลดการเกร็ง ทำให้นอนหลับสบาย ใช้เป็นยาระงับประสาท รับประทานเพื่อรักษาโรคบิด รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยกระตุ้นน้ำนมหลังคลอดบุตร สมานแผลและห้ามเลือด บำรุงหัวใจ รักษาโรคกระเพาะ ฆ่าพยาธิ แบคทีเรีย แก้โรคเบาหวาน แก้อาการท้องร่วง ใบใช้ดื่มเพื่อให้คลอดบุตรง่าย แก้อาการท้องอืด ด้วยการนำมาขยี้ผสมกับปูนแดงแล้วนำมาทาบริเวณท้อง
Scroll to top