ชื่อสมุนไพร : ตาตุ่มทะเล
ชื่ออื่นๆ : ตาตุ่ม (กลาง), บูตอ (ปัตตานี), มูตา (กระบี พังงา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Excoecaria agallocha L.
ชื่อวงศ์ : Euphobiaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นตาตุ่มทะเล เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูง 10-18 เมตร สีของเปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ลำต้นแตก เป็นร่องยาวตามลำต้น มียางสีขาวที่เป็นพิษต้องระมัดระวังไม่ให้ยางเข้าสู่ปากหรือตาเด็ดขาด และที่ผิวของเปลือกยังมีตุ่มเล็กๆ อีกด้วย
- ใบตาตุ่มทะเล เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปร่างของใบเป็นรูปไข่ปลาใบรีแหลม ส่วนฐานใบมนกลม ก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร สีของใบเขียวเข้ม เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงก่อนร่วงซึ่งอาจเกือบพร้อมกันทั้งต้น ขอบใบมีรอยหยักเล็กน้อย ผิวใบเรียบเป็นมัน
- ดอกตาตุ่มทะเล ดอกเป็นดอกช่อติดแน่นก้านช่อดอกมีขนาดเล็กมากติดกันแน่นมากจนไม่สามารถเห็นก้านดอก ช่อดอกก่อนดอกบานจะเป็นสีน้ำตาล ช่อดอกมีความยาว 5-10 เซนติเมตร
- ผลตาตุ่มทะเล ผลมีลักษณะเกือบกลมเป็นพู 3 พู มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-0.7 เซนติเมตร ผลเกลี้ยง สีเขียวอ่อนๆ ถึงสีน้ำตาล
ส่วนที่ใช้เป็นยา :ใบ, เปลือกต้น, ต้น, ราก, ยาง, กระลำพัก
สรรพคุณ ตาตุ่มทะเล :
- ใบ รสเค็มเฝื่อนร้อน แก้ลมบ้าหมู
- เปลือกต้น รสเค็มเฝื่อนร้อน ทำให้อาเจียน เป็นยาถ่าย แก้โรคลมชัก
- ต้น รสเค็มเฝื่อนร้อน ถ่ายเสมหะ และโลหิต แก้โลหิตพิการ ขับผายลม เผาเอาควันรมฆ่าเชื้อโรคผิวหนัง โรคเรื้อน
- ราก รสเค็มเฝื่อนร้อน ถ่ายหนองและลม ขับลมให้ผาย แก้เสมหะ ฝนทาแก้บวมตามมือตามเท้า แก้คัน
- ยาง รสร้อนเมาเบื่อ เป็นยาถ่ายอย่างแรง ถ่ายมากร่างกายหมดน้ำ ถึงตายได้ ใช้ขนาดพอเหมาะ ถ่ายหนองและลม สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานอาจแท้งลูกได้ ทำน้ำมันแก้โรคเรื้อน กัดแผลอักเสบเรื้อรัง ทาถูนวดแก้ปวดข้อ แก้อัมพาต
- กระลำพัก (กระลำพักเป็นเครื่องยาที่มีกลิ่นหอม ได้จากแก่นที่มีเชื้อราเจริญอยู่ในเนื้อไม้ของตาตุ่มทะเล) รสขมหอม แก้ลมฟอกโลหิต ขับระดู ขับเสมหะ
[su_quote cite=”The Description”]ยางของไม้ตาตุ่มทะเลมีพิษ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ ถ้าหากถูกผิวหนังอาจจะทำให้เกิดอาการเป็นผื่นคัน หรือบวมได้[/su_quote]