ฆ้องสามย่าน

ฆ้องสามย่าน

ชื่อเรียกอื่นๆ : ฆ้องสามย่าน, เถาไฟ, ฮอมแฮม (แม่ฮ่องสอน), คะซีคู่ซัวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ส้นเส้า, มือตะเข้, ทองสามย่าน, ใบทาจีน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Kalanchoe laciniata (Linn.) DC.
ชื่อวงศ์ : CRASSULACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  

  • ต้นฆ้องสามย่าน เป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง มีผิวเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ปล้องข้างล่างจะสั้น แต่ปล้องกลางหรือปล้องบนจะยาวขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านมาก ลำต้นและใบมีลักษณะฉ่ำน้ำ
  • ใบฆ้องสามย่าน เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบมีหลายรูปร่าง ใบบริเวณกลางลำต้นจะเว้าเป็นแฉกลึกแบบขนนกชั้นเดียวหรือสองชั้น ดูคล้ายใบประกอบ แต่ละแฉกจะมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ ตรงปลายแหลม ขอบจักเป็นฟันเลื่อยแกมซี่ฟันหยาบๆ มีสีเขียวและมีไขเคลือบ ใบมีที่เล็กกว่าขอบใบมักจะเรียบหรือเกือบเรียบ และแบน ค่อนข้างจะโอบลำต้นไว้ ส่วนใบบริเวณโคนต้นจะไม่เว้าหรือเว้าเป็นแฉกตื้นๆ หรือเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ ตรงขอบเป็นจักซี่ฟันแกมเป็นคลื่น และไม่มีก้านใบหรือมีก้านใบสั้น ใบทั้งสองแบบจะเป็นสีเขียวอ่อนและอาจมีสีม่วงแซม
  • ดอกฆ้องสามย่าน ออกดอกเป็นช่อชูขึ้นบริเวณปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก มีใบประดับแคบและเล็ก ส่วนกลีบรองกลีบดอกเป็นสีเขียวผิวเกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม ตั้งตรง ตรงโคนเชื่อมติดกัน ส่วนตรงปลายแยกออกเป็นกลีบ มีลักษณะเป็นรูปหอกแกมรูปไข่ ปลายแหลม ส่วนกลีบดอกเป็นรูปทรงแจกัน
  • ผลฆ้องสามย่าน เป็นผลแห้ง ออกผลเป็นพวง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน แตกตามตะเข็บเดียว

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ

สรรพคุณ ฆ้องสามย่าน :

  • ใบฆ้องสามย่าน รสเย็น แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงร่างกาย แก้ไข้ ยาแก้ละอองซาง รักษาอาการไอและเจ็บหน้าอก ยาแก้บิด รักษาอาการท้องร่วง ยาขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รักษาบาดแผลมีดบาด ห้ามเลือดในแผลสด บรรเทาอาการระคายเคืองและทำให้แผลหายได้โดยมีเนื้องอกมาปิดแทน เป็นยาสมานและฆ่าเชื้อบาดแผล กันแผลฟกช้ำ แผลไหม้ แผลเรื้อรัง แผลฝีมีหนอง พอกฝี แก้ปวดแสบปวดร้อน รักษาอาการเจ็บปวด แก้พิษอักเสบปวดบวม พิษตะขาบ แมงป่องต่อย แก้งูพิษกัด รักษาโรคเท้าช้าง

[su_spoiler title=”แหล่งข้อมูลอ้างอิง :” style=”fancy” icon=”folder-2″]1.วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : พิมพลักษณ์, 2547.
2.เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิทยาคาร, 2526.
3.สมาคม ร.ร.แพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระเชตุพนฯ(วัดโพธิ์). ประมวลสรรพคุณยาไทย (ภาคหนึ่ง) ว่าด้วย พฤกษชาติ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิด. ท่าเตียน พระนคร : อำพลพิทยา, 2507[/su_spoiler]

Scroll to top