ชื่อสมุนไพร : ขยัน
ชื่ออื่นๆ : เครือขยัน, เถาขยัน, สยาน, หญ้านางแดง, ย่านางแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia strychnifolia Craib
ชื่อวงศ์ : CAESALPINIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นขยัน ไม้เถาเนื้อแข็ง พาดพันไปตามต้นไม้อื่น ยาวได้ถึง 5 เมตร เถาขนาดกลางๆมักแบนมีร่องตรงกลาง สีออกเทาน้ำตาล เถาแก่กลม สีน้ำตาลแดง มีมือพันสำหรับยึดเกาะ ออกเป็นคู่ ปลายม้วนงอ ใบดกหนาทึบ
- ใบขยัน เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ผิวใบมัน สีเขียวเข้ม ปลายใบเว้าตื้น กึ่งเรียวแหลมถึงมีติ่งหนาม โคนใบกลมถึงรูปหัวใจตื้น ขอบใบเรียบ ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบ 3-5 เส้น ปลายเส้นใบโค้งจรดกัน ก้านใบยาว 2-3.5 เซนติเมตร หูใบรูปเคียว ร่วงง่าย
- ดอกขยัน เป็นดอกช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง รูปทรงกระบอกแคบ โค้งเล็กน้อย ปลายบานห้อยลง ยาว 15-100 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีแดงสด มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1.2-1.5 เซนติเมตร มีขนสีขาวปกคลุม ปลายกลีบดอกแหลมมน ฐานรองดอกรูประฆัง เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านเกสรสีแดง ยื่นพ้นกลีบดอก เกสรเพศผู้เป็นหมัน 7 อัน ยาวไม่เท่ากัน รังไข่ยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร มีขนสั้นปกคลุม ก้านสั้น ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยอดเกสรเพศเมียไม่ชัดเจนใบประดับรูปลิ่ม ติดทน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีแดง 5 กลีบ รูปถ้วย ยาว 0.5-1 เซนติเมตร มีขนสั้นปกคลุม สีชมพูอ่อนหรือสีแดง ปลายแยกเป็น 5 แฉก
- ผลขยัน เป็นฝักแบน รูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนฝักเป็นรูปหอก สีเขียวอ่อน เปลือกแข็ง เมื่อแก่แตกอ้า ยาว 15-16 เซนติเมตร เมล็ด 8-9 เมล็ด รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร พบตามป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง และที่โล่งแจ้ง ออกดอกช่วงเดือน พฤษภาคม ถึงสิงหาคม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, ราก
สรรพคุณ ขยัน :
- ลำต้นหรือราก เข้ายาบำรุงโลหิตสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรขณะอยู่ไฟช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
-
ใบ เถา และราก ใช้แก้พิษ ถอนพิษยาเมา ยาเบื่อ ยาสั่ง ถอนพิษผิดสำแดง ถอนพิษและแก้ไข้พิษทั้งปวง ขับพิษโลหิตและน้ำเหลือง แก้ท้องผูกไม่ถ่าย ใช้ฝนกับน้ำ หรือน้ำซาวข้าว หรือต้มน้ำดื่ม สรรพคุณเหมือนย่านางขาวทุกประการ แต่มีฤทธิ์แรงกว่า