ชื่อสมุนไพร : กระทืบยอด
ชื่ออื่น ๆ : กะทืบยอด (ภาคกลาง), จิยอบต้นตาล (ภาคเหนือ), นกเขาเง้า (โคราช), ทืบยอด (สุราษฎร์), เนี้นซัวเช้า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Biophytum sensitivum (L.) DC.
ชื่อวงศ์ : OXALIDACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกระทืบยอดจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว ลำต้นมีขนาดเล็กตั้งตรง ไม่แตกกิ่งก้าน ลักษณะของลำต้นกลมเป็นปล้องข้อ เปลือกต้นเป็นสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีน้ำตาลแดง มีขนละเอียด ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 10-20 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้ที่พบขึ้นตามป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และบริเวณที่ชื้นแฉะทั่วไป มีมากตามชายเขาในภาคเหนือและภาคกลาง
- ใบกระทืบยอด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับเวียนรอบต้น เป็นกระจุกที่ปลายยอด ก้านใบแผ่แบนรวมกันอยู่บนยอด เหมือนกับร่มที่กาง ใบย่อยมีประมาณ 8-12 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปคล้ายโล่ รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ
- ดอกกระทืบยอด ออกเป็นจุก บริเวณบนยอดลำต้น ลักษณะของดอกเป็นดอกขนาดเล็ก มีสีเหลืองสด
- ผลกระทืบยอด ผลเป็นผลแห้งแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย มีสีเขียวอ่อน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, ใบ, ทั้งต้น, ราก, เมล็ด
สรรพคุณ กระทืบยอด :
- ลำต้น เป็นยาแก้ดับพิษร้อนภายใน แก้ปัสสาวะพิการ แก้ไข้ แก้กาฬ แก้สะอึก ใช้ถอนพิษเบื่อเมา
วิธีใช้โดย การนำมาต้มเอาน้ำดื่ม - ใบ ใช้เป็นยาแก้กาฬภายใน เป็นยาพอกรักษาแผลสด แผลเรื้อรัง แก้ฟกช้ำ เป็นยาขับเสมหะ แก้กาฬภายใน
พอกรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้พิษแมงป่อง - ทั้งต้น เป็นยาแก้เบาหวาน ยาแก้หอบหืด ขับระดูสตรี
- ราก เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ขับนิ่ว ละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
- เมล็ด เป็นยารักษาแผลสด แก้ฝี เร่งฝีให้แตกเร็ว