อ้อยช้าง

ชื่อสมุนไพร : อ้อยช้าง
ชื่ออื่น ๆ
: กุ๊ก, กุ๊ก(ภาคเหนือ), หวีด(เชียงใหม่) , กอกกั่น(อุบลราชธานี), แม่หยูว้าย(กะเหรี่ยงกาญจนบุรี), เส่งสู่ไค้(กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ตะคร้ำ(ราชบุรี), อ้อยช้าง(ไทยราชบุรี, – ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ :  Wodier tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นอ้อยช้าง เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 12 เมตร จะสลัดใบเมื่อออกดอก เป็นไม้ที่ไม่ใคร่จะแตกกิ่งก้านสาขามากนัก ส่วนที่ยังอ่อนอยู่นั้นจะมีขนปกคลุมอยู่
    อ้อยช้าง
  • ใบอ้อยช้าง เป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ ออกเป็นช่อตรงปลายกิ่งเรียงเวียนสลับกัน แกนกลางใบประกอบยาวได้ประมาณ 12-28 เซนติเมตร ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร เป็นรูปคล้ายทรงกระบอก มีใบย่อยประมาณ 3-7 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ก้านใบย่อยจะค่อนข้างสั้น มักมีสันปีกแคบ ๆ ด้านใดด้านหนึ่ง ก้านใบย่อยด้านข้างยาวได้ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ส่วนก้านใบย่อยของใบปลายยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปหอก ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบกลม แหลม หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักมน ใบย่อยที่ปลายจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่มและขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ส่วนใบแก่ผิวจะเกลี้ยง มีเส้นใบข้างละประมาณ 7-11 คู่ ส่วนเส้นใบย่อยค่อนข้างเลือนราง
    อ้อยช้าง
  • ดอกอ้อยช้าง จะออกเป็นช่อสีเหลือง ดอกจะมีขนาดเล็ก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น ส่วนกลีบรองกลีบดอกและกลีบดอกจะมีอยู่ประมาณ 4-5 กลีบ และมีเกสรตัวผู้จะเป็น 2 เท่าของกลีบดอก เกสรตัวเมียตรงปลายจะแยกเป็น 4 แฉก
    ดอกอ้อยช้าง
  • ผลอ้อยช้าง ผลสดจะมีเนื้อ ผลนั้นจะมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างเบี้ยวเป็นสีเขียวแต้มด้วยสีม่วงแดง ภายในจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด
    อ้อยช้าง

ส่วนที่ใช้เป็นยา  : เปลือก, แก่น

สรรพคุณ อ้อยช้าง :

  • เปลือก ใช้ใส่แผล รักษาอาการปวดฟัน ใช้เป็นยาต้มรักษาธาตุพิการและอ่อนเพลีย ใช้ต้มอาบเมื่อเป็นฝี รักษาโรคเรื้อน และรักษาโรคผิวหนัง หรือใช้เปลือกบดเป็นผงใช้ใส่แผลโรคผิวหนัง น้ำที่ได้จากเปลือกสด ๆ ใช้หยอดตารักษาอาการตาเจ็บ
  • แก่น ใช้ปรุงเป็นยาแต่งรส เพราะมีรสหวาน บรรเทาอาการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่นในลำคอ เกิดความชุ่มชื่นในอก
Scroll to top