ชื่อสมุนไพร : หนอนตายหยาก
ชื่ออื่นๆ : ปงช้าง, กะเพียดช้าง, กะเพียด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stemona tuberosa Lour.
ชื่อวงศ์ : STEMONACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นหนอนตายหยาก เป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุกเลื้อยพันต้นไม้อื่น อายุหลายปี เถากลมเรียวเล็ก สีเขียว ลำต้นใต้ดินมีรากออกเป็นพวงหลายสิบราก ลักษณะเป็นรูปกระสวย ออกเป็นกระจุก คล้ายรากกระชาย ยาวได้ถึง 10-30 เซนติเมตร
- ใบหนอนตายหยาก เป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปใบคล้ายใบพลู หรือรูปหัวใจ กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบมันเป็นคลื่นตามยาวของเส้นใบ มีปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้า ขอบใบเรียบ เส้นใบแตกออกจากโคนใบขนานกันไปทางด้านปลายใบ โคนกลีบดอกติดกัน ก้านใบยาว
- ดอกหนอนตายหยาก เป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอก 4 กลีบ กลีบดอกด้านนอกสีเขียว อมเหลือง ด้านในสีแดง ปลายโค้งออกด้านนอก เกสรเพศผู้มี 4 อัน อับเรณูสีแดง เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ
- ผลหนอนตายหยาก เป็นผลแห้งแตกได้ ฝักเล็ก รูปรี ปลายแหลม กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : : ราก
สรรพคุณ หนอนตายหยาก :
- ราก (หัว) รสเมาเบื่อ ปรุงยารับประทาน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย แก้ไอและขับเสมหะ รมหัวริดสีดวงให้ฝ่อแห้งไป พอกทาแก้โรคผิวหนัง ฆ่าหิดเหา ฆ่าเชื้อพยาธิภายใน แก้มะเร็งตับ ตำผสมน้ำฆ่าแมลง ตำละเอียดแช่น้ำมันมะพร้าวใช้ฉีดฆ่าแมลง หนอนศัตรูพืช ทุบละเอียดแช่น้ำฟอกล้างผม ฆ่าเหา พอกแผลต่างๆ ฆ่าหนอน รากสดทุบใส่ปากไหปลาร้าฆ่าหนอน และใช้ทำลายหิดได้ นำรากมาโขลกบีบเอาน้ำหยอดแผลวัวควายซึ่งมีหนอนไช หนอนจะตายหมด ตำใส่น้ำข้าวทาแผลเน่าเปื่อยในวัวควาย
ข้อควรระวัง! : รากมีพิษ รับประทานเข้าไปทำให้มึนเมา ถึงตายได้