ชื่อสมุนไพร : สีเสียดเทศ
ชื่ออื่น : สีเสียดแขก
ชื่อสามัญ : Pale catechu, Gambier , Gambir catechu , Terra japonica
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Uncaria gambir (Hunter) Roxb.
ชื่อวงศ์ : Rubiaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นสีเสียดเทศ เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มแกมเถา มีลำต้นเป็นเหลี่ยม
- ใบสีเสียดเทศ ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ส่วนบริเวณก้านใบมีหนามงอเหมือนเขาควายยื่นออกมา ลักษณะใบยาวเป็นรูปไข่ ปลายแหลม
- ดอกสีเสียดเทศ เป็นช่อ กระจุกแน่น ช่อดอกกลม ออกดอกตามซอกใบ กลบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก กลีบดอกมีสีแดง เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1.25 เซนติเมตร
- ผลสีเสียดเทศ ผลเป็นรูปกระสวยเมื่อแก่จะแตกออกมาโดยมีเมล็ดอยู่ด้านใน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เป็นพืชสมุนไพร ได้จากการนำใบและกิ่งก้านของสีเสียดเทศ มาสกัดด้วยน้ำเดือด กรอง แล้วระเหยแห้ง จะได้สาร แข็งเป็นก้อน ผิวด้านนอกสีน้ำตาล ถึงน้ำตาลเข้ม เนื้อภายในสีน้ำตาลอ่อน เนื้อสารเปราะ และแตกหักง่ายมีกลิ่นเฉพาะ กลิ่นอ่อน รสฝาด และขมมาก
สรรพคุณ สีเสียดเทศ :
- ก้อนสีเสียดเทศ รสฝาด บดเป็นผงหรือต้มกิน ใช้แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด ทาสมานแผล ใช้ใส่แผลเน่าเปื่อย ใส่แผลริดสีดวง ห้ามโลหิต ห้ามเลือดกำเดา แก้ลงแดง ทำยาอม ยาบ้วนปาก เป็นส่วนประกอบของยาเหลืองปิดสมุทร
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้สีเสียดเทศ ในยารักษาอาการโรคในระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของสีเสียดเทศ และสีเสียดไทย ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด แก้ลงแดง แก้กำเดา โดยใช้ก้อนสีเสียดมาบดเป็นผลโดยใช้ประมาณ 0.3-1 กรัม หรือทุบเป็นก้อนเล็กๆ พอประมาณต้มกับน้ำดื่มใช้สมานแผล แก้ริดสีดวง ใส่แผลเน่าเปื่อยต่างๆ ใช้ห้ามเลือด โดยใช้ก้อนสีเสียดมาบดเป็นผง ใช้ทาหรือใส่บริเวณที่เป็นแผลต่างๆ