ชื่อสมุนไพร : ว่านน้ำ
ชื่ออื่นๆ : คงเจี้ยงจี้, ผมผา, ส้มชื่น, ฮางคาวน้ำ, ฮางคาวบ้าน(ภาคเหนือ), ตะไคร้น้ำ(เพชรบุรี), ทิสีปุตอ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ว่านน้ำ, ว่านน้ำเล็ก, ฮางคาวผา(เชียงใหม่)
ชื่อสามัญ : Mytle Grass, Sweet Flag
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acorus calamus L.
ชื่อวงศ์ : Araceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นว่านน้ำ เป็นไม้ล้มลุก สูง 50-150 เซนติเมตร ลำต้นสั้นเป็นเหง้าขนานกับดิน สีน้ำตาลอ่อนหรืออมชมพู
- ใบว่านน้ำ เป็นใบเดี่ยว ตั้งตรง รูปยาวเรียว เรียงสลับซ้ายขวาแบบแทยงกัน ทำให้ลักษณะต้นแบน ขนาดใบกว้าง 1.3-5 เซนติเมตร ยาว 100-150 เซนติเมตร เส้นใบขนานกันตามความยาว ผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมัน
- ดอกว่านน้ำ สีเขียว เป็นช่อแกนแทงออกจากเหง้า มีจำนวนดอกมาก อัดกันแน่นบนแกนรูปทรงกระบอก ยาว 3-10 เซนติเมตร ก้านช่อและใบประดับลักษณะคล้ายใบ กลีบรองดอก 6 กลีบ รูปกลม ปลายกลีบโค้งงอ เกสรผู้ 6 อัน รังไข่รูปกรวย ภายในมี 2 หรือ 3 ช่อง
- ผลว่านน้ำ เป็นผลสด ทรงกลม ขนาด 2-4 มิลลิเมตร
- ทั้งใบ ราก และเหง้าว่านน้ำ มีกลิ่นหอมฉุน มีถิ่นกำเนิดในเขตมรสุมของทวีปเอเซีย เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ในโคลนเลน ลำห้วยตื้น ที่น้ำท่วมขังหรือริมน้ำ
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, เหง้า, น้ำมันหอมระเหยจากต้น
สรรพคุณ ว่านน้ำ :
- ราก เป็นยาแก้ปวดท้อง ธาตุเสีย บำรุงธาตุ แก้จุก ขับลมในลำไส้ (รับประทานมาก ทำให้อาเจียน แต่มีกลิ่นหอม รับประทานน้อย) ปรุงลงในยาขมต่างๆ ทำให้ระงับอาการปวดท้องได้ดี ในว่านน้ำมีสารชนิดหนึ่งเรียกว่า อาโกริน (acorine) มีรสขมและแอลคาลอยด์ คาลาไมท์ อยู่ในนี้เป็นยาแก้บิด เป็นยารักษาบิดของเด็ก (คือมูกเลือด) และหวัดลงคอ (หลอดลมอักเสบ) ได้อย่างดี เป็นยาขับเสมหะอย่างดี ชาวอินเดียใช้ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ เคี้ยว 2-3 นาที แก้หวัดและเจ็บคอ และใช้ปรุงกับยาระบายเพื่อเป็นยาธาตุด้วยในตัว เป็นยาแก้เส้นกระตุก แก้หืด ขับเสมหะ แก้ปวดศีรษะ แก้ Hysteria และ Neuralgia แก้ปวดกล้ามและข้อ แก้โรคผิวหนัง (เป็นยาเบื่อแมลงต่างๆ เช่น แมลงวัน)
- เหง้า ใช้ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้โรคผิวหนัง เป็นยาหอม
- น้ำมันหอมระเหยจากต้น แก้ชัก เป็นยาขมหอม ขับแก๊สในท้อง ทำให้เจริญอาหาร ช่วยการย่อย