ชื่อสมุนไพร : รงทอง
ชื่ออื่น : รง
ชื่อสามัญ : Gamboge tree, Indian gamboge tree, Hanbury’s garcinia, Gambojia
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia hanburyi Hook.f.
ชื่อวงศ์ : CLUSIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นรงทอง เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 12-15 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องลึกและร่อนเป็นแผ่นตามยาว ทุกส่วนมียางเหลือง
- ใบรงทอง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปหอก กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 8-14 เซนติเมตร สีเขียวเข้ม ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบสอบ ใบเกลี้ยงห่อขึ้น ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย
- ดอกรงทอง ดอกช่อ สีเหลือง ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อแบบช่อกระจะสั้น ๆ ตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกแยกเพศ กลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีอย่างละ 4 กลีบ อับเรณูกลมหรือรูปหัวตาปู ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว หลอดรังไข่สั้น ปลายจัก 5-6 แฉก
- ผลรงทอง เป็นผลสดอุ้มน้ำแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมหรือรี สีเหลืองปนส้ม เมล็ดรูปไข่
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, เปลือก, ยางจากลำต้น
สรรพคุณ รงทอง :
- ลำต้น และเปลือก เป็นยาระบาย ขับพยาธิตัวแบน
- ยางจากลำต้น รสเบื่อเอียน ถ่ายลม ถ่ายน้ำเหลือง ถ่ายเสมหะและโลหะ เป็นยาถ่ายอย่างแรง ถ่ายโรคท้องมาน แก้โลหิตคั่งในสมอง บดผสมกะทิสดทาแผลพุพอง น้ำเหลืองเสีย แก้ปวดแผล
ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง เวลาใช้ต้องนำมาห่อด้วยใบข่า และใบบัวหลวง ปิ้งไฟจนกรอบ นำมาบดเป็นผง เพื่อลดความแรงลง ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว ใช้ภายนอกเป็นยารักษาแผลเปื่อย
ประโยชน์ของรงทอง
- ยางจากลำต้นเป็นยางเหนียวสีเหลือง นำมาใช้ทำเป็นสีย้อมผ้า และทำเป็นแม่สีเหลือง
- ยางรงทองสามารถนำมาใช้ทาสีไม้ ไม้ซอ ตัวไวโอลิน ทำสีน้ำสำหรับวาดเขียนได้ โดยจะให้สีเหลือง