ชื่อสมุนไพร : โมกหลวง
ชื่ออื่นๆ : พุด, โมกทุ่ง, โมกใหญ่, มูกหลวง, มูกมันน้อย, โมกเขา, พุด, พุทธรักษา, ยางพุด(เลย), มูกมันหลวง, หนามเนื้อ(เหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Holarrhena pubescens (Buch.-Ham.) Wall.ex G.Don
ชื่อวงศ์ : Apocynaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- โมกหลวง เป็นไม้พุ่มผลัดใบ หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 3-15 เมตร ทุกส่วนมียางสีขาว ลำต้นกลม เปลือกต้นสีเทาอ่อนถึงน้ำตาล หลุดลอกเป็นแผ่นกลมๆไม่เท่ากัน เปลือกชั้นในสีซีด ใบอ่อนมีขนปกคลุมมาก
- ใบโมกหลวง เป็นใบเดี่ยว เรียงคู่ตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาว 10-27 เซนติเมตร กว้าง 4-12 เซนติเมตร รูปไข่ รูปรี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ฐานใบแหลมหรือป้าน ปลายใบเรียวแหลมหรือมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีขน ใบแก่บาง เส้นใบข้าง 10-16 คู่ เส้นกลางใบและเส้นใบมองเห็นชัดเจน เส้นใบสีเหลือง ไม่มีต่อม ผิวใบด้านบนมีขนนุ่ม ด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่า ก้านใบยาว 0.2-0.6 เซนติเมตร ใบร่วงง่าย
- ดอกโมกหลวง ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกใกล้ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีหลายดอก ช่อดอกยาวประมาณ 4-11 เซนติเมตร ดอกขนาด 2.5-3.5 เซนติเมตร สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน บางครั้งจะมีแต้มสีชมพู กลิ่นหอม ก้านช่อยาว 0.6-1.7 เซนติเมตร ช่อดอกห้อยลง กลีบดอก มี 5 กลีบ โคนเชื่อมเป็นหลอดเล็กๆ ยาว 9-11.5 มิลลิเมตร กลีบดอกเรียงซ้อนเหลื่อมกัน เวียนซ้าย ผิวด้านนอกมีขนสีขาว เกสรเพศผู้มี 5 อัน เชื่อมกับหลอดกลีบดอก ก้านชูเกสรสั้น มีขนที่ฐาน อับเรณูแคบแหลม เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ห้อง แยกกัน ยอดเกสรเชื่อมกัน ก้านเกสรตัวเมีย 1.8-2.5 เซนติเมตร ไม่มีหมอนรองดอก กลีบเลี้ยง มี 5 กลีบ ขนาด 2-4 มิลลิเมตร แคบและแหลม มีต่อมประปราย โคนเชื่อมกันเล็กน้อย ปลายแยก มีขนสีขาว
- ผลโมกหลวง ผลแห้ง ขนาดกว้าง 0.3-0.8 เซนติเมตร ยาว 18-43 เซนติเมตร รูปกระบอกแคบ ห้อยเป็นคู่โค้ง แตกตามยาวเป็นตะเข็บเดียว ปลายฝักแหลม โคนฝักแบน เมล็ดจำนวนมาก มีลักษณะแบน สีน้ำตาล ขนาด 13-17 มิลลิเมตร เกลี้ยง แต่มีแผงขนยาวเป็น 2 เท่าของเมล็ด มีขนสีขาวเป็นพู่ติดอยู่ แผงขนชี้ไปทางยอดของผล
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ดอก, ฝัก, เปลือกต้น, แก่น, ราก, น้ำมันจากเมล็ด
สรรพคุณ โมกหลวง :
- ใบ มีรสฝาดเมา ขับน้ำนม ช่วยระงับอาการปวดกล้ามเนื้อ ใช้เป็นยาขับพยาธิในท้อง รักษาหลอดลมอักเสบ ฝี และแผลพุพอง
- ดอก เป็นยาถ่ายพยาธิ
- ฝัก มีรสฝาด ขม แก้สันนิบาตหน้าเพลิง
- เมล็ด มีรสฝาดขม เป็นยาฝาดสมาน ขับลม ใช้แก้ไข้ ท้องเสีย แก้บิด ช่วยถ่ายพยาธิในลำไส้เล็ก และรักษาโรคผิวหนัง
- เปลือกต้น มีรสร้อนขมฝาด มีสรรพคุณแก้บิด(ปวดเบ่ง มีมูกหรืออาจมีเลือดด้วย) รู้ปิดธาตุ เป็นยาเจริญอาหาร แก้เสมหะเป็นพิษ บำรุงธาตุทั้งสี่ให้เจริญ ปรุงเป็นยาแก้โรคเบาหวาน แก้ไข้จับสั่น ต้มน้ำดื่ม ช่วยระงับอาการปวดกล้ามเนื้อ หากใช้มากเกินไปจะทำให้นอนไม่หลับ ปั่นป่วนในท้อง
- เปลือกต้นแห้ง ป่นละเอียดทาตัว แก้โรคท้องมาน แก้เสมหะเป็นพิษ ปรุงเป็นยาแก้เบาหวาน แก้ไข้จับสั่น
- แก่น มีรสฝาดเมา แก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน
- ราก มีรสร้อน เป็นยาขับโลหิตระดู
- เปลือกต้น และน้ำมันจากเมล็ด ใช้รักษาโรคท้องร่วง
- เปลือก หรือใบ ต้มผสมน้ำอาบรักษาโรคหิด